คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 150/2463

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กรรมการตรวจฎีกาจำเลย อุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษฯ

ย่อยาว

โจทย์ฟ้องว่าจำเลยมีความโกรธอาฆาฎนายเคยเตี้ยบิดาโจทย์ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๐ เวลากลางคืน จำเลยเอาปืนลอบยิงถูกนายเคยเตี้ยบิดาโจทย์ถึงแก่ความตาย ที่บ้านบางคู้ จังหวัดลพบุรี ขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ตามกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๒๔๙ – ๒๕๐ ฯ
จำเลยให้การปฏิเสธข้อหา และต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ ฯ
ศาลจังหวัดลพบุรีพิจารณา ลงความเห็นว่าพยานของโจทย์ไม่พอจะฟังมาลงโทษจำเลยได้ จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทย์ปล่อยตัวจำเลย อธิบดีศาลมณฑลอยุธยามีความเห็นชอบด้วย ฯ
โจทย์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษเห็นว่าพยานโจทย์และเหตุผลได้ความกระจ่างว่าจำเลยยิงนายเคยเตี้ยด้วยความอาฆาฎพยาบาทจากสาเหตุเรื่องเย่งกันจำหน่ายฝิ่น จำเลยมีความผิด (ฐานฆ่าคนตายโดยพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมาย) ตามกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๒๕๐ (ข้อ ๓) จึงพิพากษาฉบับคำพิพากษาศาลเดิม ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลย ฯ
จำเลยทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษในข้อเท็จจริง ฯ
กรรมการศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนแล้ว ได้ความว่าเมื่อคืนโจทย์หาเวลาประมาณ ๑๐ นาฬิกาหลังเที่ยง นายเคยเตี้ยอยู่ในโรงจำหน่ายฝิ่นของนายเคยเตี้ย ได้มีผู้ร้ายเอาปืนยิงลอดฝาโรงเข้าไป กระสุนปืนถูกนายเคยเตี้ยที่ต้นคอทลุ นายเคยเตี้ยขาดใจตายทันที ข้อสำคัญแห่งความเท็จจริงที่จะฟังว่าจำเลยได้เปนผู้ร้ายลอบยิงนายเคยเตี้ยจริงฤาไม่นั้น กรรมการศาลฎีกาเห็นว่าทางพิจารณาพยานจำเลยเบิกความประกอบคำของจำเลย สมฐานที่อยู่จำเลยเปนหลักฐาน ฟังได้ว่าเวลาที่มีคนร้ายลอบยิงนายเคยเตี้ยนั้นจำเลยได้อยู่ที่เรือน่าบ้านจำเลยกับบุตรจำเลย หาได้ไปข้างไหนไม่ พยานสำคัญของโจทย์มีคำนายโชติ นายยิ้ม นายวุ่น ๓ ปากพยาน ๓ คนนี้เปนคนติดยาฝิ่น และเปนผู้ที่ไปสูบฝิ่นระจำอยู่ที่โรงผู้ตายเสมอ นายโชติเปนคนไม่มีบ้านเรือนและบุตรภรรยานายยิ้มเปนคนที่เคยต้องโทษจำคุกฐานลักทรัพย์ ล้วนแต่เปนคนประพฤติตนชั่วช้าทั้งนั้น ถ้อยคำที่เบิกความก็แตกต่างไม่ลงรอยกัน และพูดกลับไปกลับมาไม่แน่นอน ตามคำของนายโชติ นายยิ้ม นายวุ่น พยานที่เบิกนั้นคงได้ความว่า เมื่อคืนเกิดเหตุพยานไปสูบฝิ่นอยู่ในโรงยานายเคยเตี้ย ครั้นสูบฝิ่นแล้วนายโชติ นายวุ่นพยานไปวัดบางคู้ ครั้นกลับจากวัดก็มานั่งพูดกันอยู่ที่แคร่ ห่างโรงผู้ตาย ๒ วา เศษพร้อมด้วยนายยิ้มพยาน แล้วได้ยินเสียงปืนดังทางหลังโรงผู้ตายเห็นคนร้ายวิ่งออกมาวิ่งผ่ากลางระหว่างพยานทั้ง ๓ ไป พยานจำได้ว่าจำเลย ๆ นุ่งกางเกงดำขาสั้น ถือปืนมือซ้าย ปืนยาว ๑ คืบ นายโชติพยานกระโดดคว้า ถูกไหล่จำเลย แล้วนายโชติ นายยิ้มพยานก็วิ่งไล่จับจำเลย นายยิ้มเอาไม้ขว้างถูกจำเลย ๑ ที วิ่งไล่ไปถึงหลังโบถจึงได้พากันมาโรงผู้ตาย นายโชติว่าได้บอกแก่นายหงถ่ายต่อหน้านายช่วงผู้ใหญ่บ้านซึ่งนั่งอยู่ในเวลานั้นด้วย นายยิ้ม นายวุ่นพยานว่าได้บอกแก่นายโฉมผู้ใหญ่บ้าน คือ บอกระบุชื่อจำเลยว่าเปนผู้ยิงนายเคยเตี้ย ดังนี้ ก็เห็นว่าตามธรรมดาของผู้ลอบกระทำร้าย เมื่อได้ลงมือกระทำแล้วก็ย่อมจะหลบหลีกหนีไปมิให้ผู้ใดพบเห็น โรงของผู้ตายนั้นไม่ได้มีกำแพง ฤารั้วที่มั่นคงอะไร เปนแต่เอากิ่งไม้สระ ๆ ไว้เปนเขตรรั้ว คนร้ายจะเล็ดลอดออกไปทางไหนก็ได้ที่ไม่มีคนเห็น ก็ฉันใดคนร้ายจะต้องวิ่งออกไปทางน่าโรงซึ่งพยาน ๓ คนนี้นั่งพูดยืนพูดกันอยู่ และจะต้องวิ่งผ่ากลางพยานไปให้พยานเห็นเสียก่อนนั้นเปนอันไม่สมเหตุ แลในส่วนความจำนั้นเล่าก็เปนเวลากลางคืน คนร้ายวิ่งไปโดยเร็วที่พยานจะสังเกตจำได้เลอียดลออว่าเปนจำเลยนุ่งกางเกงดำขาสั้น ถือปืนมือซ้ายปืนยาว ๑ คืบนั้นเปนอันเชื่อฟังไม่ได้ นอกจากพยานจะได้รู้เห็นเสียก่อนเกิดเหตุ ส่วนตัวของพยานทั้ง ๓ คนนี้เมื่อถูกทนายจำเลยซักถามถึงเครื่องนุ่งห่มของพยานเองในคืนนั้น พยานก็จำกันไม่ได้ว่าใครนุ่งห่มสีอะไร ผ้านุ่งของตัวพยานเองก็ว่าจำไม่ได้ แต่ผ้าของตัวเองที่นุ่งอยู่ก็ยังจำไม่ได้แล้ว ก็ฉันใดจะไปจำผ้ากางเกงของคนร้ายที่ได้เห็นเพียงแวบเดียวเท่านั้นเล่า ใช่แต่เท่านั้นเมื่อพยานกลับจากไล่คนร้ายมาที่โรงผู้ตาย นายโชติพยานว่านายโชติได้บอกกับนายหงถ่ายต่อน่านายช่วงผู้ใหญ่บ้าน ว่าจำเลยเปนผู้ยิงนายเคยเตี้ยนั้น โจทย์ก็ไม่สามารถที่จะนำสืบนายหงถ่ายกับนายช่วงผู้ใหญ่บ้านมาประกอบคำนายโชติพยานได้ ส่วนนายยิ้ม นายวุ่นพยานว่าได้บอกแก่นายโฉมผู้ใหญ่บ้านนั้น นายโฉมผู้ใหญ่บ้านก็เบิกความปฏิเสธ ว่าไม่ได้บอกจำเลยเปนผู้ยิงนายเคยเตี้ย เปนแต่นายยิ้มพยานบอกว่าต้องไปตรวจปืนที่จำเลย (เปนถ้อยคำที่มีความสงสัยจำเลย) แล้วนายโชติ นายวุ่นพยานก็บอกว่าขณะได้ยินเสียงปืนดังได้เห็นผู้ร้ายวิ่ง ได้ช่วยกันไล่ไปถึงหลังโบถ ผู้ร้านก็หายไป ก็มิได้บอกว่าจำผู้ร้ายได้ว่าเปนใคร ส่วนนายยิ้มพยานก็ได้ไปตามนายอำเภอ นายโฉมผู้ใหญ่บ้านกับนายช่วงผู้ใหญ่บ้านและผู้อื่นอิกหลายคนก็พากันไปที่บ้านจำเลย ได้ตรวจปืนตรวจตัวจำเลยก็หามีพิรุธร่องรอยอย่างใดไม่ ก็พากันกลับมายังโรงผู้ตาย ครั้นขุนสระนายอำเภอมาถึงโรงผู้ตายก็ให้ผู้ใหญ่บ้านตีเครื่องสัญญาเรียกลูกบ้านมาประชุมและให้นำปืนมาตรวจ ลูกบ้านประมาณ ๕๐ – ๖๐ คนก็พากันมาให้ตรวจ นายอำเภอก็ได้ตรวจปืนและตรวจตัวจำเลยกับคนที่มาทั้งหมดก็ไม่มีรอยพิรุธอะไร และไม่ได้ความว่าผู้ใดเปนผู้ยิงนายเคยเตี้ย คำที่นายยิ้มพยานว่าเอาไม้ปาถูกคนร้าย ๑ ทีนั้น ไม้ที่ปาก็ยาวถึง ๑ ศอก โตเท่าคันกล้องสูบฝิ่น ไม่ใช่เล็กที่ตัวจำเลยก็ไม่มีร่องรอยอย่างใด เมื่ออำเภอตรวจแล้วก็บอกว่าคนเหล่านี้ไม่มีเรื่องเกี่ยวข้องให้กลับบ้าน จำเลยกับชาวบ้านก็พากันกลับ เวลาอำเภอตรวจจำเลยนุ่งกางเกงดำขาสั้นพยานเห็นอยู่แล้ว ถ้านายโชติ นายยิ้ม นายวุ่นพยานจำคนร้ายได้จริงว่าเปนจำเลย ก็ฉันใดไม่บอกแก่นายอำเภอในคืนนั้น นายยิ้มพยานก็เปนผู้ไปตามนายอำเภอมาที่โรงผู้ตาย เวลาจำเลยกับชาวบ้านนำปืนมาให้อำเภอตรวจนายยิ้มพยานก็อยู่พร้อมกัน ก็ฉันใดนายยิ้มจึงนิ่งเสียไม่บอกนายอำเภอ ๆ จะได้จับกุมจำเลยก็เห็นได้ชัดว่านายโชติ นายยิ้ม นายวุ่นพยานหาได้เห็นและจำคนร้ายได้จริงไม่ ต่อรุ่งขึ้นอิกวัน ๑ นายอำเภอไปไต่สวนที่โรงผู้ตายอิก พยานทั้ง ๓ คนนี้ให้การชั้นไต่สวนว่าเห็นและจำจำเลยได้ว่าเปนคนร้ายยิงนายเคยเตี้ยนั้น ก็เปนความคิดที่เกิดขึ้นใหม่ โดยความมุ่งเอาจำเลยซึ่งเคยมีเหตุกับผู้ตายเท่านั้นหาใช่เปนถ้อยคำที่จริงไม่ นอกจากพยานสำคัญของโจทย์ ๓ ปากนี้แล้วก็ยังมีคำนายบักจุ๊ย นายดี นายพลับซึ่งเปนพยานประกอบ และข้อที่สงสัยจำเลยว่าลักปืนของนายบักจุ๊ยไปยิงนายเคยเตี้ย คำนายบักจุ๊ยพยานก็เปนแต่สงสัยว่าจำเลยลักปืนของนายบักจุ๊ย คำนายดีพยานว่าก่อนจากวันเกิดเหตุได้พบจำเลยพกปืนโก ๕ นัดจำได้ว่าเปนปืนของนายบักจุ๊ย คำนายกลับพยานว่าคืนเกิดเหตุก่อนเวลานายเคยเตี้ยถูกยิงได้พบกับจำเลย เดิรสวนทางกันห่างโรงผู้ตาย ๒ เส้นเศษ กับรู้ว่าจำเลยลักปืนของนายบักจุ๊ย พยาน ๒ คนนี้ก็เปนคนติดฝิ่น และเคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ถ้อยคำก็ไม่สมเหตุสมผลทั้งนั้น ในเรื่องปืนของนายบักจุ๊ยหายที่สงสัยจำเลยนั้น ก็ปรากฏตามคำของขุนสระ ฯ นายอำเภอแล้วว่าได้ไต่สวนส่งเรื่องให้อัยการ ๆ ไม่ฟ้องจำเลย การที่อัยการมิได้ฟ้องจำเลยก็เปนคดีที่ไม่มีมูลแห่งความจริง เพราะฉนั้นเมื่อพยานของโจทย์ถ้อยคำไม่สมเหตุสมผลฟังเปนจริงไม่ได้ดังกล่าวมาแล้ว ศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษยกคำพยานชนิดนี้ขึ้นเปนหลักลงโทษประหารชีวิตจำเลยนั้นไม่ต้องด้วยทางพิจารณา ฯ
จึงพร้อมกันพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษและยกฟ้องโจทย์เสีย ให้ปล่อยตัวจำเลยไปตามคำพิพากษาของศาลเดิมนั้น ฯ
วันที่ ๑ กรกฎาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๓

Share