แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39 บัญญัติว่า “ ห้ามให้ศาลประทับเป็นฟ้องตามกฎหมาย เว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งกำหนดต้องชำระ หรือจะถึงกำหนดชำระระหว่างที่คดียังอยู่ในศาล ” นั้น กฎหมายมุ่งประสงค์ให้ผู้รับประเมินได้ชำระหนี้ค่าภาษีจนหนี้ค่าภาษีที่พนักงานเก็บภาษีได้แจ้งการประเมินระงับสิ้นไปเสียก่อน หากเมื่อศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ผู้รับประเมินจึงจะมีสิทธิมาขอรับคืนเงินส่วนที่ลดลงมาได้ตามเงื่อนไขของบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวในวรรคท้าย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ผู้รับประเมินใช้การฟ้องคดีต่อศาลเพื่อประวิงการชำระหนี้ค่าภาษี และตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคสาม การชำระหนี้ด้วยเช็ค หนี้จะระงับเมื่อเช็คได้ใช้เงินไปแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ผ่อนชำระค่าภาษีประจำปี 2537 ถึง 2543 และโจทก์สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าให้ไว้ซึ่งจะถึงกำหนดชำระหลังจากวันฟ้อง หนี้ค่าภาษีประจำปี 2537 ถึง 2543 จึงยังไม่ระงับสิ้นไปและถือไม่ได้ว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระดังที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องสำหรับข้อหาเกี่ยวกับค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2537 ถึง 2543
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยและการประเมินของพนักงานเก็บภาษีสำนักงานเขตปทุมวันและให้จำเลยคืนเงิน 76,395,688.80 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) และวรรคท้าย ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยและการประเมินของพนักงานเก็บภาษีสำนักงานเขตปทุมวันที่จำเลยแต่งตั้งและให้จำเลยชี้ขาดให้พนักงานเก็บภาษีสำนักงานเขตปทุมวันรับประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนของอาคารเลขที่ 4/1 – 2 ถนนราชดำริ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และคืนเงินตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายโต้แย้งการประเมินภาษีปี 2535 และ 2536 ว่าไม่ชอบอย่างไร จึงต้องถือว่าโจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีในปี 2535 และ 2536 ส่วนการประเมินภาษีในปี 2537 ถึง 2543 โจทก์ยื่นฟ้องโดยมิได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระหรือจะถึงกำหนดชำระระหว่างที่คดียังอยู่ในศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39 ประเด็นอื่นไม่จำต้องวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์และโจทก์ร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อพนักงานเก็บภาษีของจำเลยได้แจ้งรายการประเมินและเรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2537 ถึง 2543 โจทก์ร่วมโดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจได้ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระเป็น 48 งวด งวดละเดือน เดือนละ 3,243,919.45 บาท งวดสุดท้ายชำระ 3,243,919.90 บาท โดยจ่ายเช็คชำระค่างวดดังกล่าว งวดที่ 1 เช็คลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 งวดต่อไปเช็คลงวันที่ 20 ของเดือนถัดไป จนครบ 48 งวด ในวันที่ 20 ตุลาคม 2547 พร้อมทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้จำเลยโดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันและจำเลยตกลงให้โจทก์ร่วมผ่อนชำระค่าภาษีได้ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่แต่ผู้ว่าราชการของจำเลยมีคำชี้ขาดตามการประเมินของพนักงานเก็บภาษีของจำเลย โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องในข้อหาเกี่ยวกับค่าภาษีประจำปี 2537 ถึง 2543 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ผ่อนชำระค่าภาษีประจำปี 2537 ถึง 2543 โดยโจทก์ได้สั่งจ่ายเช็คพร้อมกับทำหนังสือรับสภาพหนี้และทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้แก่จำเลย จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีตามการประเมินแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ที่ พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39 บัญญัติว่า “
ห้ามมิให้ศาลประทับเป็นฟ้องตามกฎหมาย เว้นแต่จะเป็นที่พอใจศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระ..หรือจะถึงกำหนดชำระระหว่างที่คดียังอยู่ในศาล” นั้น กฎหมายมุ่งประสงค์ให้ผู้รับประเมินได้ชำระหนี้ค่าภาษีจนหนี้ค่าภาษีที่พนักงานเก็บภาษีได้แจ้งการประเมินระงับสิ้นไปเสียก่อน หากเมื่อศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ผู้รับประเมินจึงจะมีสิทธิมาขอรับคืนเงินส่วนที่ลดลงมาได้ตามเงื่อนไขของบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวในวรรคท้าย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ผู้รับประเมินใช้การฟ้องคดีต่อศาลเพื่อประวิงการชำระหนี้ค่าภาษีเพราะการกระทำดังกล่าวอาจทำให้ทางราชการขาดเงินรายได้จากภาษีมาใช้ในการบริหารราชการได้ และตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคสาม การชำระหนี้ด้วยเช็คหนี้จะระงับเมื่อเช็คได้ใช้เงินแล้ว ดังนั้น หนี้ค่าภาษีประจำปี 2537 ถึง 2543 จึงยังไม่ระงับสิ้นไปและถือไม่ได้ว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระดังที่กฎหมายกำหนดไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง สำหรับข้อหาเกี่ยวกับค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2537 ถึง 2543 ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.