แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งให้ริบ ศาลชั้นต้นฟังว่าผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่มีอำนาจ ยื่นคำร้องขอคืนของกลาง ให้ยกคำร้องและคดีถึงที่สุด แล้วผู้ร้องยื่นคำร้องเข้ามาใหม่ขอให้ศาลยกคำร้องขึ้นไต่สวนและมีคำสั่งใหม่โดยอ้างเหตุเดียวกันว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในของกลางซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61, 73 และ ริบรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70 – 2692 สมุทรปราการ ของกลาง ผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 5 มิถุนายน 2543 ขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางแก่ผู้ร้อง ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 ให้ยกคำร้อง ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2545 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางอีกครั้ง
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยื่นคำร้องในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันไมได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 5 มิถุนายน 2543 ขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางที่ ศาลสั่งให้ริบตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1256/2542 ของศาลชั้นต้น โดยอ้างว่าเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกคันที่ศาลสั่งให้ริบ หาใช่ผู้ร้อง ผู้ร้องเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวมาจากบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด แล้วนำมาให้ บริษัทพี. ซี. เค ทรานสปอร์ต จำกัด เช่าซื้อช่วง อำนาจในการยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางจึงตกแก่ บริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง ผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกของกลางแล้วนำมาให้บริษัทพี. ซี. เค. ทรานสปอร์ต จำกัด เช่าซื้อช่วง ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลาง และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องมายื่นคำร้องครั้งใหม่คือฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2545 อ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในกระทำความผิดของจำเลยแต่อย่างใด ขอให้ศาลยกคำร้องขึ้นไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ เห็นว่า ข้ออ้างตามคำร้องที่ขอให้ศาลยกคำร้องขึ้นไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ ดังกล่าวเป็นประเด็นแห่งคดีที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใน ศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ผู้ร้องฎีกาว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง ความจริงผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกของกลางตามสำเนาเอกสารที่แนบมาท้ายคำร้องฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2545 นั้น เห็นว่า เมื่อคำพิพากษาให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางได้โดยอ้างว่าเป็นของตนมิได้ รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องจะต้องนำสืบให้ฟังได้เช่นนั้น เมื่อพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบฟังไม่ได้ว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องดังคำร้อง ก็เท่ากับฟังว่าผู้ร้องไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกของกลางอันแท้จริงนั่นเอง เมื่อผู้ร้องยังคงยื่นคำร้องฉบับนี้เข้ามาใหม่โดยอ้างเหตุเดียวกันว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกที่ศาลสั่งให้ริบและขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลาง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใน ศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
พิพากษายืน.