แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 52) กำหนดให้เงินได้ที่ลูกจ้างได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีเกษียณอายุที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเข้าหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ ประการแรก เงินได้นั้นลูกจ้างต้องได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีเกษียณอายุ ประการที่สอง ลูกจ้างมีอายุขณะเกษียณอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ประการที่สาม ลูกจ้างเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระหว่างวันที่ 13 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2543 ซึ่งมีระยะเวลาทำงานให้แก่นายจ้างก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี เมื่อโจทก์ปฏิบัติตามคู่มือพนักงานซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ระบุเกี่ยวกับการเกษียณอายุของพนักงานไว้ 2 กรณี กรณีแรก พนักงานจะเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ กรณีที่สอง บริษัทอาจอนุญาตให้พนักงานเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์ได้ โดยมีเงื่อนไข คือ บริษัทกับพนักงานต้องมีข้อตกลงเป็นข้อตกลงเป็นหนังสือ พนักงานที่ขอเกษียณต้องมีอายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และพนักงานผู้ขอเกษียณอายุต้องมีอายุการทำงานอย่างน้อย 15 ปี เมื่อโจทก์ทำหนังสือขอเกษียณอายุและบริษัทอนุมัติให้โจทก์เกษียณอายุก่อนกำหนด ถือได้ว่าโจทก์กับบริษัทมีข้อตกลงเป็นหนังสือ เมื่อโจทก์เข้าทำงานมาแล้วมีอายุการทำงาน 18 ปีเศษ อีกทั้งโจทก์เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระหว่างระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไป จนถึงวันที่เจ้าพนักงานสรรพากรลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2540 เลขที่ 005300/0/107287 ลงวันที่ 16 มกราคม 2544 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.1 (อธ.4)/37/2545 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2545 โดยไม่นำเงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 2,022,626.87 บาท รวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรจำนวน 10,241.31 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน แต่ดอกเบี้ยต้องไม่เกินจำนวนภาษีอากรดังกล่าว กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 1,500 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยรับผิดตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ ป.รัษฎากร มาตรา 42 บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
(17) เงินได้ตามที่จะได้กำหนดยกเว้นโดยกฎกระทรวง” ซึ่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 บัญญัติว่า “ให้กำหนดเงินได้ต่อไปนี้เป็นเงินได้ตาม (17) ของมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร
(36) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด”
อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 80) กำหนดไว้ความว่า “ข้อ 1 เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ ดังนี้
(1) กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และ
(ก) เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ
(ข) เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระหว่างวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2537 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งมีระยะเวลาที่ทำงานกับนายจ้างนั้นก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี” เห็นว่า เงินได้ที่ลูกจ้างได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีเกษียณอายุที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามบทบัญญัติดังกล่าว ต้องเข้าหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ ประการแรก เงินได้นั้นลูกจ้างต้องได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีเกษียณอายุ ประการที่สอง ลูกจ้างมีอายุขณะเกษียณอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ประการที่สาม ลูกจ้างเข้าไปเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระหว่างวันที่ 13 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2543 ซึ่งมีระยะเวลาทำงานให้แก่นายจ้างก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี คดีนี้โจทก์ได้รับเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเนื่องจากออกจากงานกรณีเกษียณอายุก่อนกำหนด ปัญหาว่า การขอเกษียณอายุก่อนกำหนดนั้นเป็นการเกษียณอายุตามหลักเกณฑ์ประการแรกหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้คำนิยามศัพท์คำว่าเกษียณอายุไว้จึงต้องแปลความหมายตามพจนานุกรมว่า ครบกำหนดอายุรับราชการ, สิ้นกำหนดเวลารับราชการหรือการทำงาน การครบหรือสิ้นกำหนดการทำงานจึงหมายถึงการที่นายจ้างให้พนักงานลูกจ้างออกจากงานเนื่องจากสูงอายุตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วย คดีนี้บริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ที่โจทก์ทำงานอยู่มีคู่มือพนักงานอันเป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ระบุในข้อ 12.6 เกี่ยวกับการเกษียณอายุของพนักงานไว้ 2 กรณี กรณีแรก พนักงานจะเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ กรณีที่สองบริษัทอาจอนุญาตให้พนักงานเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์ได้ โดยมีเงื่อนไขสามประการ คือ ประการแรก บริษัทกับพนักงานต้องมีข้อตกลงเป็นหนังสือ ประการที่สอง พนักงานที่ขอเกษียณอายุต้องมีอายุครบ 50 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป และประการที่สาม พนักงานผู้ขอเกษียณอายุต้องมีอายุการทำงานอย่างน้อย 15 ปี โจทก์ได้ทำหนังสือขอเกษียณอายุและบริษัทได้อนุมัติให้โจทก์เกษียณอายุก่อนกำหนด ถือได้ว่าโจทก์กับบริษัทมีข้อตกลงในการเกษียณอายุก่อนกำหนดเป็นหนังสือ และข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เข้าทำงานที่บริษัทเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2522 พ้นจากการเป็นพนักงานเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ขณะที่โจทก์มีอายุ 56 ปีเศษ มีอายุงาน 18 ปีเศษ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ทั้งสามประการตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จึงถือเป็นการเกษียณอายุตามข้อตกลงแล้ว การที่โจทก์ได้รับเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในขณะที่โจทก์เกษียณอายุโจทก์มีอายุ 56 ปีเศษ ซึ่งมีอายุครบ 55 ปีขึ้นไป แม้โจทก์เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2538 และโจทก์พ้นจากการเป็นพนักงานของบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ด้วยการเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ซึ่งขณะที่โจทก์เกษียณอายุโจทก์ยังเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ครบ 5 ปี แต่โจทก์ได้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ในระหว่างวันที่ 13 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2543 ซึ่งมีระยะเวลาทำงานกับนายจ้างนั้นก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 15 ปี ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์สามประการที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์และเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาทแทนโจทก์