คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4211/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาตกลงยินยอมเป็นนักเรียนในความดูแลของโจทก์ตามสัญญาเป็นนักเรียนในความดูแลของ ก.พ. มีจำเลยที่ 2 บิดาและ ก. มารดาทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่ในความดูแลของโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญากับโจทก์ว่าจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาให้จำเลยที่ 1 ให้โจทก์เป็นผู้จัดหาสถานศึกษาและยินยอมที่จะจัดส่งค่าใช้จ่ายตามที่โจทก์ได้ออกทดรองจ่ายแทนไปก่อน จำเลยที่ 1 ได้เข้าเรียนในประเทศอังกฤษ เมื่อปิดการศึกษา จำเลยที่ 1 เดินทางกลับประเทศไทย และรายงานตัวต่อโจทก์ ที่สำนักงานประเทศไทยว่าจะกลับไปเรียนต่อ ต่อมา ก. ได้ทำบันทึกถึงโจทก์ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ย้ายโรงเรียน หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองทำหนังสือแจ้งยกเลิกการไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษถึงโจทก์ โจทก์ได้ชำระค่าเล่าเรียนแทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว และระหว่างศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ จำเลยทั้งสองได้เบิกค่าใช้จ่ายให้โจทก์ทดรองจ่ายไปก่อนด้วย ดังนั้น เมื่อสัญญาเป็นนักเรียนในความดูแลของ ก.พ. และสัญญาฝากและออกค่าใช้จ่ายที่จำเลยทั้งสองทำไว้กับโจทก์ระบุว่า กรณีผิดนัดชำระหนี้ให้โจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาดังกล่าว กรณีนี้ไม่ใช่เบี้ยปรับซึ่งศาลจะมีอำนาจปรับลดลงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 384,467.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 300,108.71 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 196,774.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,100.42 ปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ในการคิดเปลี่ยนเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินบาทให้คิดโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่ขายเงินตราต่างประเทศในกรุงเทพมหานครในวันที่อ่านคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุด ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันอ่านคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุด แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตรา 1 ปอนด์สเตอร์ลิงต่อ 58.84 บาท และเมื่อคิดเป็นเงินบาทแล้วต้นเงินต้องไม่เกิน 300,108.71 บาท ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาตกลงยินยอมเป็นนักเรียนในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ของโจทก์ตามสัญญาเป็นนักเรียนในความดูแลของ ก.พ. มีจำเลยที่ 2 บิดาและนางกาญจนา มารดา ทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่ในความดูแลของโจทก์หนังสือให้ความยินยอม โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญากับโจทก์ว่าจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาให้จำเลยที่ 1 ตามหนังสือ ให้โจทก์เป็นผู้จัดหาสถานศึกษาและยินยอมที่จะจัดส่งค่าใช้จ่ายตามที่โจทก์ได้ออกทดรองจ่ายแทนไปก่อน ตามคำรับรอง ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเชอร์บอร์น ในประเทศอังกฤษ เมื่อโรงเรียนเชอร์บอร์นปิดภาคการศึกษาภาคต้นจำเลยที่ 1 เดินทางกลับประเทศไทยและได้ไปรายงานตัวต่อโจทก์ที่สำนักงานประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2537 ว่า จำเลยที่ 1 จะกลับไปเรียนต่อในวันที่ 10 มกราคม 2537 ตามแบบรายงานตัวกลับ วันที่ 6 มกราคม 2537 นางกาญจนา ได้ทำบันทึกถึงโจทก์ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ย้ายโรงเรียนตั้งแต่เดือนกันยายน ปีการศึกษา 2537 ตามหนังสือขอให้ย้ายโรงเรียน วันที่ 26 เมษายน 2537 โรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ตอบตกลงรับจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 11 สิงหาคม 2537 จำเลยทั้งสองทำหนังสือแจ้งยกเลิกการไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษถึงโจทก์ โจทก์ได้ชำระค่าเล่าเรียนแก่โรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ จำนวน 4,074 ปอนด์สเตอร์ลิง แทนจำเลยที่ 1 ไปแล้ว และระหว่างศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษจำเลยทั้งสองได้เบิกค่าใช้จ่ายให้โจทก์ทดรองจ่ายไปก่อนด้วย จำเลยทั้งสองจำต้องชำระคืนโจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าเล่าเรียน จำนวน 4,074 ปอนด์สเตอร์ลิง คืนโจทก์หรือไม่ จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับแจ้งว่า โรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ตกลงรับจำเลยที่ 1 เข้าเรียนแล้วและโจทก์ชำระค่าเล่าเรียนจำนวนดังกล่าวไปหลังจากจำเลยทั้งสองแจ้งยกเลิกไม่ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษแล้ว ปัญหานี้โจทก์นำสืบว่าโจทก์ติดต่อโรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนหนึ่งในสามโรงเรียนที่นางกาญจนาแสดงความประสงค์ไว้และจำเลยที่ 1 ได้กรอกใบสมัครส่งไปให้โรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2537 ตามใบสมัคร ทางโรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ได้ตอบรับจำเลยที่ 1 เข้าเรียนในเดือนกันยายน 2537 โดยระบุว่าขึ้นอยู่กับว่านักเรียนต้องมี ผลคะแนน GCSE ในระดับดีอย่างน้อย 6 วิชา โดยจะต้องรวมภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ด้วย ทางโรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์กำหนดให้กรอกแบบฟอร์มคืนไปภายในวันที่ 16 พฤษภาคม ตามหนังสือของโรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ ซึ่งผู้แทนของโจทก์ได้ตอบตกลงไปแล้วตามหนังสือตอบรับจำเลยที่ 1 เองก็เบิกความยอมรับว่าโรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ได้เชิญจำเลยที่ 1 ไปทดสอบความรู้ และพาชมบรรยากาศของโรงเรียน ในขณะนั้นจำเลยที่ 1 กำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนเชอร์บอร์นซึ่งมีกำหนดสอบภาคสุดท้ายในเดือนมิถุนายน 2537 แสดงว่าขณะที่โรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ตอบรับจำเลยที่ 1 เข้าเรียน จำเลยที่ 1 ยังอยู่ที่ประเทศและอยู่ในความดูแลของโจทก์ จึงเป็นไปไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าโรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ตอบตกลงรับจำเลยที่ 1 เข้าเรียนแล้ว ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า ไม่เคยได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าโรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ตอบรับจำเลยที่ 1 เข้าเรียนจึงฟังไม่ขึ้น เมื่อจำเลยทั้งสองเพิ่งแจ้งยกเลิกการเข้าเรียนที่โรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ต่อโจทก์ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2537 หลังจากที่โรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ตอบรับจำเลยที่ 1 เข้าศึกษาแล้วและผู้แทนโจกท์ได้ทำหนังสือตอบยืนยันไปแล้ว จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระค่าเล่าเรียนที่โจทก์ได้ทดรองจ่ายไปก่อนจำนวน 4,074 ปอนด์สเตอร์ลิง คืนให้โจทก์ตามระเบียบของโรงเรียนที่มีว่า เมื่อโรงเรียนได้รับแบบฟอร์มยืนยันการศึกษาของจำเลยที่ 1 แล้วจะต้องจ่ายค่าเล่าเรียน แม้ว่าต่อมานักเรียนจะไม่ได้เข้าเรียนก็ตาม ตามคำยืนยันของโรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระเงินที่โจทก์ได้ทดรองจ่ายไปตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้คืนให้แก่โจทก์
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินคืนโจทก์พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดนับแต่วันใด อัตราดอกเบี้ยร้อยละเท่าใดอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินปอนด์สเตอร์ลิงเป็นเงินบาทตามวันเวลาที่โจทก์กำหนดไว้เองหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามหนังสือที่จำเลยที่ 2 แสดงความจำนงถึงโจทก์ขอให้โจทก์รับดูแลจำเลยที่ 1 ในการไปศึกษาที่ต่างประเทศตามหนังสือระบุที่อยู่ของจำเลยที่ 2 ไว้ไม่ใช่เลขที่ 35 ซอยพุ่มอุไร แต่ในตอนท้ายของเอกสารฉบับดังกล่าวระบุสถานที่ที่ต้องการให้ติดต่อคือ เลขที่ 35 ซอยพุ่มอุไร แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร แม้จำเลยทั้งสองจะปฏิเสธว่าไม่รู้เป็นลายมือของใครระบุไว้เช่นนั้นก็ตาม แต่สัญญาเป็นนักเรียนในความดูแลของโจทก์ตามสัญญาเป็นนักเรียนในความดูแลของ ก.พ. และแบบรายงานตัวกลับจากต่างประเทศของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ระบุที่อยู่ เลขที่ 35 ซอยพุ่มอุไร ตามแบบรายงานตัวกลับ ดังนั้น การที่โจทก์ส่งหนังสือทวงถามไปยังบ้านเลขที่ดังกล่าวจึงเป็นการส่งโดยชอบแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระตามกำหนดจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 ตามหนังสือทวงถามส่วนอัตราดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดที่จำเลยทั้งสองเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ศาลมีอำนาจลดลงได้นั้น เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคแรก บัญญัติว่า “หนี้เงินนั้นท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น” ดังนั้น เมื่อตามสัญญาเป็นนักเรียนในความดูแลของ ก.พ. และสัญญาฝากและออกค่าใช้จ่าย ที่จำเลยทั้งสองทำไว้กับโจทก์ระบุว่า กรณีผิดนัดชำระหนี้ ให้โจทก์คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามสัญญาดังกล่าว กรณีนี้ไม่ใช่เบี้ยปรับซึ่งศาลจะมีอำนาจปรับลดลงได้ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 5,100.42 ปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จึงชอบแล้ว ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ต้องคิดอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่โจทก์ได้ออกทดรองเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 ซึ่งตามประกาศทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน 1 ปอนด์สเตอร์ลิง เท่ากับ 38.58 บาท เงินที่โจทก์ทดรองจ่ายให้จำเลยที่ 1 ไปจำนวน 5,100.42 ปอนด์สเตอร์ลิง จึงคิดเป็นเงินไทย 196,974.20 บาท นั้น เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน ฎีกาของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ขายเงินตราต่างประเทศในกรุงเทพมหานคร ในวันที่อ่านคำพิพากษาถึงที่สุด ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนก่อนวันอ่านคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุด ก็ไม่ถูกต้อง ตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสองชำระเป็นเงินบาทให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราเงินปอนด์สเตอร์ลิงถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในเวลาที่ใช้เงินแต่ต้องไม่เกินอัตรา 1 ปอนด์สเตอร์ลิง ต่อ 58.84 บาท และจำนวนต้นเงินต้องไม่เกิน 300,108.71 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share