คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1717/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ผู้ถูกฟ้องว่าเป็นเจ้าพนักงานร่วมกับพวกกระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติด และทรัพย์สินของผู้คัดค้านผู้เป็นภริยาของจำเลยที่ 3 รวม 7 รายการ เนื่องจากเป็นทรัพย์สิน ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยขอให้ริบตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 15, 22, 27, 29, 31 ซึ่งตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง…” ดังนั้น เมื่อปรากฏหลักฐานว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา อันเป็นที่สุดให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงมีผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินทั้ง 7 รายการของผู้คัดค้านและจำเลยที่ 3 สิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดี คงมีแต่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านเพียงผู้เดียว โดยจำเลยที่ 3 มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีตามกระบวนการแห่ง พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปราม ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 28, 29 แม้ผู้คัดค้านจะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ จำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจขอคืนทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แทนได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2543 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสี่พร้อม ยึดได้เมทแอมเฟตามีน จำนวน 10,000 เม็ด น้ำหนัก 909.658 กรัม มีปริมาณคำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 239.980 กรัมเป็นของกลาง โดยกล่าวหาว่าร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ต่อมาผู้ร้องได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่ในความผิดต่อ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4801/2543 หมายเลขแดงที่ 7677/2543 ของศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวปรากฏต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 กับของผู้คัดค้านผู้เป็นภริยาของจำเลยที่ 3 เป็นทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีคำสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินเป็นกรณีเร่งด่วน และคำสั่งที่ 98/2543 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 ให้อายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านไว้ชั่วคราว รวม 3 รายการ ต่อมามีคำสั่งที่ 141/2543 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ไว้ชั่วคราว รวม 3 รายการ และมีคำสั่งที่ 142/2543 ลงวันวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2543 ให้ยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านไว้ชั่วคราวอีก 1 รายการ ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินวินิจฉัยว่าทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และผู้คัดค้านทั้ง 7 รายการดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของจำเลยที่ 3 และผู้คัดค้านไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต จึงมีคำสั่งที่ 162/2543 ลงวันที่ 22 กันยายน 2543 ให้ยึดทรัพย์สินทั้ง 7 รายการ ผู้ร้องเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว จึงขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินทั้ง 7 รายการให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 15, 22, 27, 29, 31
ศาลชั้นต้นได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดี
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านและจำเลยที่ 3 ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและเป็นเจ้าของทรัพย์สินตามคำร้องซึ่งได้มาโดยสุจริตจากการทำมาหาได้ร่วมกันพอควรแก่ฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพ ไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ร้องยื่นคำร้องล่วงเลยกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกคำร้องและสั่งคืนทรัพย์สินทั้ง 7 รายการแก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า ให้ริบทรัพย์สินทั้ง 7 รายการให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ จำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4801/2543 หมายเลขแดงที่ 7677/2543 ของศาลชั้นต้น ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นรวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง…” ดังนั้น เมื่อปรากฏหลักฐานว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 5052/2545 อันเป็นที่สุดให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็น เจ้าพนักงานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงมีผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินทั้ง 7 รายการของผู้คัดค้านและจำเลยที่ 3 สิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดี คงมีแต่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านเพียงผู้เดียว โดยจำเลยที่ 3 มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีตามกระบวนการแห่ง พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 28, 29 แม้ผู้คัดค้านจะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 3 ก็ไม่อาจขอคืนทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แทนได้ ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง และให้คืนทรัพย์สินของผู้คัดค้านตามคำร้องรวม 4 รายการ แก่ผู้คัดค้าน.

Share