แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 19 บัญญัติว่า ผู้รับประเมินจะต้องยื่นแบบพิมพ์เพื่อแจ้งรายการทรัพย์สินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ซึ่งทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และมาตรา 24 บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดประเภททรัพย์สิน ค่ารายปีกับค่าภาษีที่จะต้องเสียและให้พนักงานเก็บภาษีแจ้งรายการประเมินไปให้ผู้รับประเมินทราบโดยไม่ชักช้า นอกจากนี้ มาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (2) ยังบัญญัติว่าผู้รับประเมินผู้ใดยื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา 19 ดังนั้นการแจ้งการประเมินย้อนหลังในกรณีที่ผู้รับประเมินยื่นแบบพิมพ์แล้วจะต้องกระทำภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของปีภาษีที่ผู้รับประเมินยื่นแบบพิมพ์
โจทก์ยื่นแบบพิมพ์แจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2532 ถึง 2536 ในปี 2532 ถึง 2536 ภายในกำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโดยไม่ชักช้า หากเห็นว่าโจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นเพราะแจ้งค่ารายปีไม่ถูกต้อง หรือมีทรัพย์สินบางรายการต้องนำมาคำนวณเพิ่มเติมหรือเพราะโจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ถูกต้อง แต่ยังไม่ได้ทำการประเมิน พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการประเมินย้อนหลังภายใน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีที่โจทก์ยื่นแบบพิมพ์ มิใช่ภายในกำหนด 10 ปี ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้รับประเมินไม่ยื่นแบบพิมพ์ การที่พนักงานเก็บภาษีแจ้งรายการประเมินให้โจทก์ชำระค่าภาษีสำหรับปีภาษี 2532 ถึง 2536 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 ซึ่งโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2541 จึงเกินกำหนด 5 ปี
คลังพัสดุของโจทก์มีเนื้อที่ 3,360 ตารางเมตร เมื่อหักพื้นที่อาคารโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ออกแล้วคงเหลือพื้นที่อีก 98,944 ตารางเมตร ในส่วนพื้นที่ที่เหลือนั้น ได้มีคำวินิจฉัยในคดีก่อนว่าเป็นที่ว่างมิได้ใช้ปลูกสร้างโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นและอยู่กระจัดกระจายกันไป ทั้งบริเวณรอบอาคารคลังพัสดุมีรั้วล้อมรอบ พื้นที่ว่างนอกรั้วอยู่แยกต่างหากจากคลังพัสดุ โดยมีถนนทางรถไฟและคลองคั่น พื้นที่ดังกล่าวจึงมิใช่ที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับอาคารคลังพัสดุ ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่จะนำพื้นที่ดังกล่าวรวมกับพื้นที่อาคารคลังพัสดุ โดยอ้างว่าเป็นที่ดินต่อเนื่องกับคลังพัสดุแล้วประเมินค่าภาษีจากโจทก์ในปีภาษี 2540 อีก ย่อมไม่ถูกต้อง จึงต้องคำนวณค่ารายปีของอาคารคลังพัสดุใหม่ โดยถือตามจำนวนพื้นที่ของอาคารคลังพัสดุที่ฟังยุติแล้วในคดีก่อนมาเป็นหลักในการคำนวณ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า พนักงานเก็บภาษีประจำเขตยานาวาได้แจ้งการประเมินค่ารายปี และค่าภาษีสำหรับทรัพย์สินของโจทก์ประจำปีภาษี 2540 และประเมินย้อนหลังประจำปีภาษี 2532 ถึง 2536 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2541 ดังนี้ เมื่อวันที่ 26 ถึง 27 พฤษภาคม 2541 พนักงานเก็บภาษีออกใบแจ้งการประเมินค่ารายปีจำนวน 4 เดือน สำหรับโรงเรือนและที่ดินซึ่งเป็นคลังน้ำมันของโจทก์ เลขที่ 81 ถนนเชื้อเพลิงแขวงช่องนนทรี เขตยานาวา ประจำปีภาษี 2532 ค่ารายปีจำนวน 137,320 บาท ค่าภาษีจำนวน 17,165 บาท ประจำปีภาษี 2533 ค่ารายปีจำนวน 1,503,220 บาท ค่าภาษีจำนวน 148,946.25 บาท ประจำปีภาษี 2534 ค่ารายปีจากคลังน้ำมันของโจทก์ เลขที่ 81 และ 81/1 ถนนเชื้อเพลิง แขวงช่องนนทรี เขตยานาวา จำนวน 5,492,130 บาท ค่าภาษีจำนวน 686,156.25 บาท ประจำปีภาษี 2536 ค่ารายปีจำนวน 5,678,340 บาท ค่าภาษีจำนวน 709,792.50 บาท ประจำปีภาษี 2535 ค่ารายปีจำนวน 5,678,340 บาท ค่าภาษีจำนวน 709,792.50 บาท ประจำปีภาษี 2536 ค่ารายปีจำนวน 5678,340 บาท ค่าภาษีจำนวน 709,792.50 บาท ประจำปีภาษี 2536 ค่ารายปีจำนวน 8,393,160 บาท ค่าภาษีจำนวน 1,031,305 บาท ประจำปี 2540 ค่ารายปีจำนวน 8,393,160 บาท ค่าภาษีจำนวน 1,031,305 บาท ประจำภาษี 2540 ค่ารายปีจำนวน 83,302,970 บาท ค่าภาษีจำนวน 10,410,306.27 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าวจึงได้อุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการของจำเลย ผู้ว่าราชการของจำเลยชี้ขาดยืนตามการแจ้งประเมินโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้อง พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจประเมินภาษีย้อนหลังสำหรับทรัพย์สินของโจทก์ประจำปีภาษี 2532 ถึง 2536 เพราะขัดต่อมาตรา 24 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการตามมาตรา 24 ย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบตามมาตรา 19 พนักงานเก็บภาษีแจ้งการประเมินภาษีย้อนหลังในปีภาษี 2532 ถึง 2536 ให้โจทก์ชำระภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 ซึ่งโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2541 เกินกำหนดเวลา 5 ปีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 ทวิ จำเลยต้องคืนเงินค่าภาษีในปีภาษีดังกล่าวแก่โจทก์รวมจำนวน 2,593,725 บาท ส่วนกรณีตามใบแจ้งรายการประเมินประจำปีภาษี 2540 นั้น มีปัญหาพิพาทกันเฉพาะคลังพัสดุและที่ดินต่อเนื่อง รวมทั้งลานคอนกรีตแต่โจทก์ไม่ได้รับแจ้งว่าที่ดินต่อเนื่องกับคลังพัสดุและลานคอนกรีตนั้นเป็นที่ดินต่อเนื่องอย่างไร บริเวณใดและมีเนื้อที่เท่าใด โจทก์และจำเลยเคยมีปัญหาพิพาทกันเกี่ยวกับค่ารายปีและค่าภาษีของคลังพัสดุและที่ดินต่อเนื่องที่เป็นปัญหาพิพาทกันในคดีนี้ โดยโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมินและคำชี้ขาดสำหรับคลังพัสดุและที่ดินต่อเนื่องในปีภาษี 2537 ถึง 2539 คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่ดินที่อยู่กระจัดกระจายนอกคลังพัสดุไม่ใช่ที่ดินต่อเนื่องกับคลังพัสดุ ดังนั้น ค่ารายปีที่ศาลฎีกากำหนดในปีภาษี 2539 จำนวน 939,450.58 บาท จึงควรเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีในปีภาษี 2540 ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีคลังพัสดุและที่ดินต่อเนื่องจำนวน 7,095,600 บาท จึงไม่ถูกต้อง สำหรับลานคอนกรีตซึ่งประเมินค่ารายปีจำนวน 8,504,520 บาท ตามใบแจ้งรายการประเมินไม่ได้ระบุรายละเอียดว่ามีจำนวนเท่าใดและต่อเนื่องกับทรัพย์สินใดของโจทก์บ้างซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจประเมินรวมกับโรงเรือนต่างๆของโจทก์ไปแล้ว การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีลานคอนกรีตโดยอ้างว่าเป็นที่ดินต่อเนื่องจึงไม่ถูกต้อง และเนื่องจากพนักงานเก็บภาษีไม่ได้อธิบายหรือให้เหตุผลในการแจ้งประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์การประเมินในปีภาษี 2540 และประเมินภาษีย้อนหลังในปีภาษี 2532 ถึง 2536 ในใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดก็ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินและไม่ได้กำหนดประเภทแห่งทรัพย์สินที่ประเมินว่ามีทรัพย์สินใดบ้าง ทำให้โจทก์ไม่ทราบว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีและค่าภาษีทรัพย์สินใดของโจทก์บ้าง การประเมินดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่อมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การแจ้งประเมินของพนักงานจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขใบแจ้งรายการประเมินตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ถึง 8 และใบแจ้งคำชี้ขาดตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 โดยกำหนดค่ารายปีใหม่ตามที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยคืนเงินภาษีจำนวน 4,426,308.68 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ครบถ้วน
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีย้อนหลังตามรายการในแบบพิมพ์ที่โจทก์ยื่นแสดงรายการไว้แล้วนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการได้ภายในอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 ไม่ใช่กรณีการประเมินย้อนหลังตามมาตรา 24 ทวิ (2) ซึ่งเมื่อนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2532 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2541ที่แจ้งให้โจทก์ทราบการประเมินแล้วยังไม่เกิน 10 ปี การประเมินย้อนหลังของพนักงานเจ้าหน้าที่จึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่าพนักงานเก็บภาษีไม่ได้อธิบายหรือให้เหตุผลในการแจ้งประเมินและในใบแจ้งคำชี้ขาดก็ไม่มีรายละเอียดนั้น เพราะเห็นว่าโจทก์รู้ถึงรายละเอียดของทรัพย์สินโจทก์ในแบบแสดงรายการที่โจทก์เป็นคนจัดทำขึ้นเอง พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีตามลำดับรายการในแบบ ภ.ร.ด.2 ที่โจทก์ยื่น โจทก์สามารถตรวจสอบรู้ได้โดยง่าย ทั้งตามบทบัญญัติมาตรา 24 ก็กำหนดไว้เพียงแต่ว่าให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งรายการที่ได้กำหนดไว้นั้นไปยังพนักงานเก็บภาษีให้เจ้าพนักงานเก็บภาษีแจ้งรายการประเมินให้ผู้รับประเมินทรัพย์สินในท้องที่ของตนทราบโดยมิช้า ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามมิให้แจ้งรายการรวมในแต่ละรายการ ทั้งในชั้นอุทธรณ์การประเมินโจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าการแจ้งประเมินขัดต่อมาตรา 24 ส่วนการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีในปีภาษี 2540 เกี่ยวกับคลังพัสดุนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่คำนวณในอัตราค่าเช่าเฉลี่ย 40 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน คิดเป็นค่ารายปีจำนวน 1,216,800 บาท ค่าภาษีจำนวน 152,100 บาท ซึ่งเหมาะสมแล้ว สำหรับที่ดินต่อเนื่องนั้นเมื่อโจทก์พัฒนาพื้นที่ทั้งหมดมาใช้ประโยชน์โดยมีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างตั้งกระจายอยู่ในพื้นที่ที่เช่า โจทก์จึงต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในส่วนที่เป็นที่ดินต่อเนื่องคือที่ดินที่เหลือจากการรองรับหรือปลูกสร้างโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ ซึ่งต้องถือว่าเป็นส่วนที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งหมดตามปกติ โจทก์มีที่ดินต่อเนื่องจำนวน 48,988 ตารางเมตร คิดค่ารายปีจำนวน 5,878,800 บาท ค่าภาษีจำนวน 734,850 บาทสำหรับลานคอนกรีตที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีและค่าภาษีนั้นมี 5 รายการอยู่ใน ภ.ร.ด.2 ประจำปีภาษี 2540 ซึ่งโจทก์ใช้เป็นที่รถวิ่ง จอดรถและวางถังน้ำมันเพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจหรืออุตสาหกรรมของโจทก์ โจทก์จึงต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในส่วนนี้ด้วย ค่ารายปีและค่าภาษีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินนั้นเหมาะสมแล้ว ทั้งมิได้ประเมินซ้ำซ้อนกับที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเพราะได้หักไปแล้วไม่ได้นำมาคิดเป็นลานคอนกรีตอย่างที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย เนื่องจากมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 บัญญัติว่า ถ้าศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ท่านให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายในสามเดือนโดยไม่คิดค่าอย่างใด ดังนั้น หากจำเลยจะต้องคืนเงินภาษีส่วนลดให้โจทก์ จำเลยก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและคำชี้ขาดของจำเลยเฉพาะปีภาษี 2532 ถึง 2535 ให้จำเลยคืนเงินภาษีที่รับจากโจทก์ในปีดังกล่าวแก่โจทก์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ถ้าไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกและของจำเลยมีว่าการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีประจำปีภาษี 2532 ถึง 2536 กระทำภายในกำหนดหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 19 บัญญัติว่า ผู้รับประเมินจะต้องยื่นแบบพิมพ์เพื่อแจ้งรายการทรัพย์สินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ซึ่งทรัพย์สินนั้นต้องอยู่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และ มาตรา 24 บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดประเภททรัพย์สินค่ารายปีกับค่าภาษีที่จะต้องเสีย และให้พนักงานเก็บภาษีแจ้งรายการประเมินไปให้ผู้รับประเมินทราบโดยไม่ชักช้า นอกจากนี้มาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (2) ยังบัญญัติว่า ผู้รับประเมินผู้ใดยื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา 19 ดังนั้น การแจ้งการประเมินย้อนหลังในกรณีที่ผู้รับประเมินยื่นแบบพิมพ์แล้วจะต้องกระทำภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของปีภาษีที่ผู้รับประเมินยื่นแบบพิมพ์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ยื่นแบบพิมพ์แจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำภาษี 2532 ถึง 2536 ในปี 2532 ถึง 2536 ตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.10ภายในกำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโดยไม่ชักช้า หากเห็นว่าโจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นเพราะแจ้งค่ารายปีไม่ถูกต้อง หรือมีทรัพย์สินบางรายการต้องนำมาคำนวณเพิ่มเติมหรือเพราะโจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ถูกต้อง แต่ยังไม่ได้ทำการประเมิน พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการประเมินย้อนหลังภายใน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีที่โจทก์ยื่นแบบพิมพ์ มิใช่ภายในกำหนด 10 ปี ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้รับประเมินไม่ยื่นแบบพิมพ์ดังที่จำเลยอุทธรณ์ ปรากฏว่าพนักงานเก็บภาษีแจ้งรายการประเมินให้โจทก์ชำระค่าภาษี 2532 ถึง 2536 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 ซึ่งโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2541 จึงเกินกำหนด 5 ปี การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำภาษี 2532 ถึง 2536 ของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำชี้ขาดการประเมินจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่จำต้องชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2532 ถึง 2536 เพิ่มเติมแก่จำเลย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า การประเมินค่ารายปีและค่าภาษีประจำปี 2540 ถูกต้องหรือไม่ โจทก์มีนางสาววนิดา ว่องเจริญ ผู้รับมอบอำนาจเป็นพยานเบิกความว่าคลังพัสดุของโจทก์ใช้เก็บพัสดุต่างๆ มีเนื้อที่จำนวน 3,360 ตารางเมตร โจทก์จำเลยเคยพิพาทกันเกี่ยวกับค่ารายปีและค่าภาษีของคลังพัสดุและที่ดินต่อเนื่องมาแล้ว ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินที่อยู่กระจัดกระจายนอกคลังพัสดุไม่ใช่ที่ดินต่อเนื่องกับพัสดุ สำหรับลานคอนกรีตเป็นการประเมินซ้ำซ้อนเพราะได้ประเมินรวมกับโรงเรือนไปแล้ว จำเลยมีนายสมปอง ฉันธนะ เป็นพยานเบิกความว่า ที่ดินต่อเนื่องของโจทก์มีเนื้อที่จำนวน 98,944 ตารางเมตร ตัวเลขดังกล่าวได้มาจากการนำพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 144,752 ตารางเมตรลบด้วยพื้นที่ชั้นล่างของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างจำนวน 45,808 ตารางเมตร สำหรับภาษี 2540 พยานประเมินค่ารายปีของที่ดินต่อเนื่องเป็นลานคอนกรีตทั้งหมด จึงไม่มีที่ดินต่อเนื่องเหลืออยู่ และไม่มีที่ดินต่อเนื่องที่จะต้องนำไปผูกกับคลังพัสดุเหมือนปีก่อน แต่ต่อมานางสว่างจิต ไชยพลบาล แก้ไขโดยคำนวณใหม่ให้มีที่ดินต่อเนื่องเหมือนเดิม ในส่วนของคลังพัสดุนางสว่างจิตคำนวณเนื้อที่ได้จำนวน 2,535 ตารางเมตร ส่วนที่ดินต่อเนื่องคำนวณเนื้อที่ได้จำนวน 48,988 ตารางเมตร ซึ่งได้ประเมินค่ารายปีจำนวน 5,878,800 บาท ค่าภาษีจำนวน 734,850 บาท แล้วนำไปรวมกับรายการคลังพัสดุเป็นค่ารายปีจำนวน 7,095,600 บาท ค่าภาษีจำนวน 886,950 บาท เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่าทรัพย์สินของโจทก์ที่พิพาทกันในคดีนี้เกี่ยวกับค่ารายปีและค่าภาษีนั้น โจทก์จำเลยเคยมีข้อพิพาทกันมาก่อนแล้วหลายคดี ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาขี้ขาดแล้วก่อนปีภาษี 2540 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4056/2540 สำหรับปีภาษี 2537 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4451/2541 สำหรับปีภาษี 2538 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3415/2541 สำหรับปีภาษี 2539 ตามทางนำสืบของโจทก์จำเลยไม่ปรากฏว่าทรัพย์สินที่นำมาประเมินค่ารายปีและค่าภาษีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เมื่อปรากฏว่าในส่วนของคลังพัสดุนั้นข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้นแล้วว่ามีเนื้อที่จำนวน 3,360 ตารางเมตร หักพื้นที่ที่โจทก์ใช้ก่อสร้างโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดแล้ว จะเหลือพื้นที่ที่โจทก์ใช้ทำเป็นถนนเชื่อมต่อตัวอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ตลอดจนบานจอดรถและพื้นที่ว่างระหว่างถังน้ำมันซึ่งมีท่อน้ำต่อเนื่องถึงกัน รวมทั้งที่ใช้เป็นที่วางพัสดุต่างๆ อีกจำนวน 98,944 ตารางเมตร ซึ่งนายสมปองพยานจำเลยก็เบิกความรับว่าที่ดินต่อเนื่องของโจทก์มีจำนวน 98,944 ตารางเมตรจริง ดังนั้นการที่นางสว่างจิตพนักงานเก็บภาษีของจำเลยจะคิดคำนวณเนื้อที่คลังพัสดุและที่ดินต่อเนื่องขึ้นใหม่ โดยแยกเป็นลานคอนกรีตขึ้นอีกส่วนหนึ่งย่อมไม่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนว่า คลังพัสดุของโจทก์มีเนื้อที่จำนวน 3,360 ตารางเมตร เมื่อหักพื้นที่อาคารโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ออกแล้วคงเหลือพื้นที่อีกจำนวน 98,944 ตารางเมตร ในส่วนพื้นที่ที่เหลือนั้น ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ว่างมิได้ใช้ปลูกสร้างโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น และอยู่กระจัดกระจายกันไป ทั้งบริเวณรอบอาคารคลังพัสดุมีรั้วล้อมรอบ พื้นที่ว่างนอกรั้วอยู่แยกต่างหากจากคลังพัสดุ โดยมีถนนทางรถไฟและคลองคั่น พื้นที่ดังกล่าวจึงมิใช่ที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับอาคารคลังพัสดุ ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่จะนำพื้นที่ดังกล่าวรวมกับพื้นที่อาคารคลังพัสดุ โดยอ้างว่าเป็นที่ดินต่อเนื่องกับคลังพัสดุแล้วประเมินค่าภาษีจากโจทก์ในปีภาษี 2540 อีก ย่อมไม่ถูกต้อง จึงต้องคำนวณค่ารายปีของอาคารคลังพัสดุใหม่ โดยถือตามจำนวนพื้นที่ของอาคารคลังพัสดุที่ฟังยุติแล้วในคดีก่อนมาเป็นหลักในการคำนวณ ซึ่งการคำนวณค่ารายปีนั้น พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 บัญญัติให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา ปรากฏว่าค่ารายปีของอาคารคลังพัสดุของโจทก์ในปีภาษี 2539 มีจำนวน 939,450.58 บาท และจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าค่ารายปีของอาคารคลังพัสดุของโจทก์ประจำปีภาษี 2540 ควรสูงกว่าของปีภาษี 2539 จึงกำหนดให้เท่ากับค่ารายปีของปีภาษี 2539 จำนวน 939,450.58 บาท คำนวณเป็นค่าภาษีได้จำนวน 117,431.32 บาท จำเลยต้องคืนค่าภาษีที่โจทก์ชำระไว้เกินแก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2536 และ 2540 และให้ประเมินค่ารายปีประจำปีภาษี 2540 ใหม่ จำนวน 939,450.58 บาท ค่าภาษีจำนวน 117,431.32 บาท ให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีส่วนที่รับไว้เกินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่วันคดีถึงที่สุด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท.