คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10872/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับ ส. เป็นเพียงบุคคลสิทธิซึ่งผูกพันเฉพาะคู่กรณี แม้ศาลจะพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ก็เพียงแต่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนเท่านั้น แต่สิทธิของผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นด้วยผลของกฎหมาย เมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุดยืนยันสิทธิดังกล่าว ผลของคำพิพากษาย่อมผูกพัน ส. กับพวก ซึ่งมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกันทุกคน และผลของคำพิพากษานั้นใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) คำสั่งของจำเลยทั้งสองที่ให้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ก่อนการจดทะเบียนสิทธิให้แก่โจทก์จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรี จำเลยที่ 2 เป็นส่วนราชการระดับกรมมีอธิบดีกรมที่ดินเป็นผู้กระทำการแทน และจำเลยทั้งสองมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป. ที่ดิน และ ป.พ.พ. เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2539 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4649 ส่วนของนางสาวสมคิด นพวรรณ พร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้วต่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่รับจดทะเบียนให้อ้างว่าต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 รวม 5 คดีก่อน โดยอ้างคำสั่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งสั่งตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา โจทก์มีสิทธิดีกว่าผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินแปลงดังกล่าว เนื่องจากคดีที่โจทก์ฟ้องนางสาวสมคิดถึงที่สุดก่อนคดีที่ผู้ครอบครองปรกปักษ์ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ยอมรับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของนางสาวสมคิดพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4649 ส่วนของนางสาวสมคิดพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ก่อนผู้ครอบครองปรปักษ์และให้จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำสั่งศาล
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อปี 2533 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทส่วนของนางสาวสมคิดพร้อมยุ้งข้าว 1 หลัง ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาศาลชั้นต้น ขณะเดียวกันนายเหรียญ โอกาศ กับพวกรวม 10 คน ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทบางส่วนโดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินต้องสอบสวนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเสียก่อน ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 74 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2497) ออกตามความใน พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ข้อ 2 โดยจำเลยที่ 2 หารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วแจ้งให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่ผู้ครอบครองปรปักษ์ทั้งหมดก่อนตามมาตรา 78 แห่ง ป. ที่ดิน เพื่อให้ทราบจำนวนที่ดินคงเหลือที่นางสาวสมคิดและเจ้าของรวมอื่นยังคงมีกรรมสิทธิ์อยู่ แล้วจึงจดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของนางสาวสมคิดให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิดีกว่าผู้ครอบครองปรปักษ์ เพราะคำพิพากษาที่วินิจฉัยว่าผู้ครอบครองปรปักษ์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมผูกพันนางสาวสมคิดและใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ โจทก์คงมีสิทธิเท่าส่วนของนางสาวสมคิดที่เหลืออยู่ในที่ดินพิพาทเท่านั้น อนึ่ง ก่อนโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับนางสาวสมคิด โจทก์ทราบความจริงแล้วว่าที่ดินพิพาทถูกครอบครองปรปักษ์แล้ว และราคาซื้อขายก็ต่ำกว่าราคาที่แท้จริงมาก ทั้งโจทก์นำคดีมาฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทหลังจากนางสาวสมคิดผิดสัญญาถึง 2 ปี และการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลระหว่างโจทก์กับนางสาวสมคิดเกิดขึ้นเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีดังกล่าวเพียง 9 วัน พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าโจทก์ประสงค์จะนำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามยอมนั้นมาเป็นข้อต่อสู้ผู้ครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยทั้งสองกระทำการไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษา ยกฟ้อง และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนจำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เพราะคดีระหว่างโจทก์กับนางสาวสมคิดถึงที่สุดก่อนนั้น เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับนางสาวสมคิดเป็นเพียงบุคคลสิทธิผูกพันเฉพาะคู่กรณี แม้ศาลจะพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ก็เพียงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนเท่านั้น แต่สิทธิของผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นด้วยผลของกฎหมาย เมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุดยืนยันสิทธิดังกล่าว ผลของคำพิพากษาย่อมผูกพันนางสาวสมคิดกับพวกซึ่งถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกันทุกคน และผลของคำพิพากษานั้นใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) คำสั่งของจำเลยทั้งสองที่ให้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ก่อนการจดทะเบียนสิทธิให้แก่โจทก์จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว คดีระหว่างโจทก์กับนางสาวสมคิดจะถึงที่สุดก่อนคดีร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หรือไม่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคดีเป็นอย่างอื่น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share