คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7391/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย มาตรา 264 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นข้อโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กรณีตามคำร้องของจำเลยที่อ้างว่า พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฯ มาตรา 30 และ 31 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29, 30, 48, 50, 89 และ 272 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมิได้รับโอนสินทรัพย์ในคดีนี้ของจำเลยเพราะเหตุสินทรัพย์ของจำเลยมีลักษณะไม่ครบถ้วนตามที่ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฯ มาตรา 31 บัญญัติว่า การใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยดังกล่าวจะชอบหรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกับคณะกรรมการดังกล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์ในคดีนี้ คดีนี้จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องนำ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฯ มาตรา 30 และ 31 มาใช้ในการวินิจฉัยคดี บทบัญญัติดังกล่าวจึงมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี คำร้องของจำเลยไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกคำร้องของจำเลยชอบแล้ว
ฎีกาของจำเลยที่ว่า การฟ้องคดีนี้ของโจทก์ในสภาวะที่ประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจเป็นการพ้นวิสัย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และจำเลยได้รับการรับรองคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 และ 219 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ตั้งแต่ในศาลชั้นต้น ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การเป็นนิติบุคคลประเภทหุ้นส่วนบริษัทและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลนั้น นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้จดทะเบียนส่งไปลงพิมพ์ในโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและถือว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1021 และ 1022 จำเลยให้การแต่เพียงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดหรือไม่ และ บ. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือไม่ จำเลยไม่ทราบ ไม่รับรอง และหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องมิได้ระบุให้ จ. มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลในคดีนี้เท่านั้น เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่มีประเด็นที่โจทก์จะต้องนำพยานมาสืบ ทั้งยังฝ่าฝืนข้อสันนิษฐานเด็ดขาดตามกฎหมายอีกด้วย เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุว่า จ. มีอำนาจยื่นฟ้องและดำเนินคดีใดๆ ซึ่งสาขามีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องอยู่ และจำเลยมีหนี้สินค้างชำระอยู่แก่โจทก์ จ. ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์ โดยโจทก์หาจำต้องระบุชื่อผู้ที่จะถูกฟ้องและศาลที่จะยื่นฟ้องในหนังสือมอบอำนาจด้วยไม่
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2542 ลงวันที่ 22 เมษายน 2542 แล้วว่า พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2535 (ฉบับที่3)ฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้บังคับได้ในคดีทั้งปวงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 วรรคท้าย อีกทั้ง พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ เป็นกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมสูงกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีก็ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ
ป.พ.พ. มาตรา 733 เป็นเพียงบทสันนิษฐานถึงเจตนาของคู่กรณี หาใช่บทกฎหมายซึ่งเกี่ยวด้วยผลประโยชน์ของมหาชนโดยทั่วไปไม่ แต่เกี่ยวแก่คู่กรณีโดยเฉพาะ และหาได้เกี่ยวกับศีลธรรมตามที่นิยมกันในหมู่ชนทั่วไปหรือธรรมเนียมประเพณีของสังคมแต่อย่างใดไม่ จึงมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้รับจำนองและผู้จำนองอาจตกลงกันเป็นประการอื่นจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ย่อมกระทำได้ ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับตามกฎหมายหาตกเป็นโมฆะไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 4,698,666.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 4,201,815.94 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระขอให้บังคับจำนองยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,966,213.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กันยายน 2539 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2540 ร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2540 ร้อยละ 19.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2540 ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2541 ร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2541 ร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2541 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2541 ร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2541 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 และร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7863 และ 8455 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยแก่โจทก์จนครบ
จำเลยอุทธรณ์
ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดีจากสารบบความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องไม่ต้องด้วยพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 3 วรรคสอง ประกอบมาตรา 30 วรรคหก เนื่องจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว ให้ยกคำร้อง ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และให้ส่งความเห็นตามคำร้องของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 และมาตรา 31 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 29, 30, 48, 50, 87 และ 272 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งว่าบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยไม่ยอมรับโอนสินทรัพย์ในคดีเรื่องนี้ของโจทก์ โดยอ้างว่าไม่เข้าข่ายตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีเรื่องนี้ได้ กรณีจึงมิใช่มีข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ศาลยุติธรรมจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่ง พ.ศ.2540 มาตรา 6 คำร้องของจำเลยไม่ต้องด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง อันจะต้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ให้ยกคำร้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกาคำสั่งและคำพิพากษา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จำเลยยกเป็นข้อต่อสู้คดีได้ทุกขณะ ศาลจึงนำบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีเรื่องนี้ได้ คำร้องของจำเลยต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 วรรคหนึ่ง แล้วนั้น เห็นว่า ข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง นั้น จะต้องเป็นข้อโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กรณีตามคำร้องของจำเลยที่อ้างว่า พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 และ 31 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 29, 30, 48, 50, 87 และ 272 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารท้ายคำร้องของจำเลยเองว่า คณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมิได้รับโอนสินทรัพย์ในคดีนี้ของจำเลย เพราะเหตุสินทรัพย์ของจำเลยมีลักษณะไม่ครบถ้วนตามที่พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 31 บัญญัติไว้ การใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยดังกล่าวจะชอบหรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกับคณะกรรมการดังกล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับโจทก์ในคดีนี้ คดีนี้จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องนำพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 และ 31 มาใช้ในการวินิจฉัยคดี บทบัญญัติดังกล่าวจึงมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี คำร้องของจำเลยไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกคำร้องของจำเลยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า การฟ้องคดีนี้ของโจทก์อยู่ในสภาวะที่ประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ เป็นการพ้นวิสัย จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และจำเลยยังมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะมีพฤติการณ์ที่จำเลยไม่ต้องรับผิด ทั้งจำเลยยังเป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้เนื่องจากการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้และซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 205 และ 219 อีกด้วยนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ตั้งแต่ในศาลชั้นต้น จึงถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่มีพยานยืนยันว่าโจทก์ โดยนายบัณฑูร ล่ำซำ มอบอำนาจให้นายจรูญ ไหคำ ฟ้องและดำเนินคดีแทน และตามหนังสือมอบอำนาจก็ไม่ได้ระบุชื่อให้ฟ้องผู้ใด ณ ศาลใดนั้น เห็นว่า การเป็นนิติบุคคลประเภทหุ้นส่วนบริษัทและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลนั้น นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้จดทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และถือว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021 และ 1022 จำเลยให้การแต่เพียงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมหาชน มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ มีนายบัณฑูร ล่ำซำ เป็นกรรมการผู้จัดการโดยลำพังคนเดียว มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้หรือไม่ จำเลยไม่ทราบไม่รับรอง และต่อสู้ว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องมิได้ระบุว่าให้นายจรูญ ไหคำ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ มีอำนาจเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลในคดีนี้ รวมทั้งมิได้ระบุข้อหาหรือความผิดฐานใด ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์เท่านั้น จำเลยมิได้ให้การยืนยันว่า นายบัณฑูรมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และมิได้มอบอำนาจให้นายจรูญมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์แต่ประการใด จึงไม่มีประเด็นที่โจทก์จะต้องนำพยานมาสืบแสดงว่านายบัณฑูรเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และได้มอบอำนาจให้นายจรูญมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ ทั้งคำให้การดังกล่าวยังเป็นการฝ่าฝืนข้อสันนิษฐานเด็ดขาดตามกฎหมายอีกด้วย เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุว่าให้นายจรูญมีอำนาจยื่นฟ้องและดำเนินคดีใดๆ ซึ่งสาขามีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องอยู่ และจำเลยมีหนี้สินค้างชำระอยู่แก่โจทก์ นายจรูญย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์โดยโจทก์หาจำต้องระบุชื่อผู้ที่จะถูกฟ้องและศาลที่จะยื่นฟ้องในหนังสือมอบอำนาจด้วยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า กรณีไม่มีปัญหาเรื่องการมอบอำนาจของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 ในส่วนที่มีผลทำให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราที่เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 30 ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตลอดจนขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 นั้น เห็นว่า กรณีตามฎีกาของจำเลยในข้อนี้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2542 ลงวันที่ 22 เมษายน 2542 วินิจฉัยไว้แล้วว่า พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 ในส่วนที่เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 30 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้ได้ในคดีทั้งปวง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264 วรรคท้าย ข้ออ้างที่ว่า พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 ในส่วนที่มีผลทำให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราที่เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 30 จึงรับฟังไม่ได้ อีกทั้งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 เป็นกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดจากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมให้สูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ก็ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่ศาลฎีกาในข้อสุดท้ายว่า ข้อตกลงที่ให้โจทก์บังคับคดีจากทรัพย์สินอื่นได้หากบังคับทรัพย์จำนองขายทอดตลาดแล้วยังไม่พอชำระหนี้ อันเป็นข้อตกลงที่ให้ยกเว้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 เป็นเพียงบทบัญญัติสันนิษฐานถึงเจตนาของคู่กรณีเท่านั้น หาใช่บทกฎหมายซึ่งเกี่ยวด้วยผลประโยชน์ของมหาชนโดยทั่วไปไม่ แต่เกี่ยวแก่คู่กรณีโดยเฉพาะและหาได้เกี่ยวกับศีลธรรมตามที่นิยมกันในหมู่ชนทั่วไปหรือธรรมเนียมประเพณีของสังคมแต่อย่างใดไม่ บทบัญญัติตามมาตรา 733 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งคู่กรณีคือโจทก์ผู้รับจำนองและจำเลยผู้จำนองอาจตกลงกันเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ก็ย่อมกระทำได้ เช่น ในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วยังได้เงินไม่พอใช้หนี้ จำเลยผู้จำนองยอมรับผิดให้โจทก์ผู้รับจำนองยึดทรัพย์อื่นของตนมาใช้หนี้จนครบ เป็นต้น ข้อตกลงนี้ย่อมมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมายหาตกเป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1507/2538 ระหว่าง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด โจทก์ นายภักดิ์ พินิจเวชการ จำเลย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share