แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินไม่เหมือนกับตัวอย่างลายมือชื่อในสมุดเงินฝากและคำขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์โดยชัดแจ้งเพียงแต่คล้ายกันเท่านั้น ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นลูกค้าทั่วไป พนักงานของธนาคารจำเลยที่ 1 จะไม่จ่ายเงินให้ แต่ที่จ่ายให้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างทำงานอยู่ในสำนักงานของจำเลยที่ 1 ด้วยกัน จึงเชื่อใจอนุโลมและยืดหยุ่นจ่ายให้ไปโดยมิได้ใส่ใจให้ความสำคัญแก่ลายมือชื่อผู้ถอนเงินว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงหรือไม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ใบถอนเงินลงชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเองแต่ไม่มีตัวโจทก์มา พนักงานของจำเลยที่ 1 ก็ยังจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแทน พฤติการณ์ชี้ชัดว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์
โจทก์ฝากสมุดเงินฝากไว้กับจำเลยที่ 2 เพราะเชื่อใจจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานของโจทก์และเป็นผู้จัดการให้โจทก์ฝากเงินกับจำเลยที่ 1 แม้ในปกหน้าด้านในจะมีข้อความให้ผู้ฝากเงินเป็นผู้เก็บรักษาสมุดเงินฝากเอง ก็เป็นเพียงคำแนะนำมิใช่ข้อตกลงในการฝากเงินทั้งโจทก์ไม่ได้รับสมุดเงินฝากและไม่เห็นคำแนะนำหรือคำเตือนดังกล่าว เนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับและเก็บรักษาสมุดเงินฝากไว้แทนตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 2ถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปได้ จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผลโดยตรงจากการที่โจทก์ฝากสมุดเงินฝากไว้กับจำเลยที่ 2 ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วยจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด จำเลยที่ 2เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 สาขาสี่แยกสนามจันทร์ โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1สาขาสี่แยกสนามจันทร์ โดยโจทก์ได้เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์บัญชีเลขที่ 719-1-19074-4 รวมเงินฝากในบัญชี 479,000 บาท จำเลยทั้งสองจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ตรวจสอบลายมือชื่อในการถอนเงินให้รอบคอบ โดยปล่อยให้จำเลยที่ 2 ถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ โดยโจทก์ไม่ยินยอมและไม่ทราบเรื่อง โจทก์มาทราบภายหลังว่าเงินในบัญชีของโจทก์เหลือเพียง 2,099.01 บาท ซึ่งจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยในบัญชีของโจทก์หายไปเป็นเงินจำนวน 482,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 482,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์เป็นลูกค้าเงินฝากของจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์กับจำเลยที่ 1 สาขาสี่แยกสนามจันทร์ บัญชีเลขที่ 719-1-19074-4 และนำเงินเข้าฝากจำนวนหนึ่ง โจทก์ได้รับสมุดเงินฝากออมทรัพย์ไปจากจำเลยที่ 1 แล้วโจทก์นำเงินเข้าฝากและถอนเงินออกจากบัญชีออมทรัพย์หลายครั้ง ซึ่งการถอนเงินแต่ละครั้งจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ทุกประการ โดยมิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใดขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 482,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 476,900.99 บาท นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2ชำระเงินแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 รับผิดจำนวน 241,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ5 ต่อปี ของต้นเงิน 238,450.49 บาท นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์กับจำเลยที่ 1 สาขาสี่แยกสนามจันทร์ ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างชั่วคราวทำหน้าที่รักษาความสะอาดและบริการลูกค้า โดยโจทก์ฝากสมุดเงินฝากไว้กับจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นหลานโจทก์และเป็นผู้ติดต่อจัดการให้โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดังกล่าวต่อมาจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินแล้วนำมาถอนเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของโจทก์จากจำเลยที่ 1 สาขาสี่แยกสนามจันทร์21 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 482,500 บาท คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาเฉพาะจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์เพียงกึ่งหนึ่งหรือเต็มจำนวนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่า ลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินไม่เหมือนกับลายมือชื่อโจทก์ในตัวอย่างลายมือชื่อในสมุดเงินฝากและคำขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์โดยชัดแจ้ง เพียงแต่คล้ายกันเท่านั้น ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นลูกค้าทั่วไป พนักงานของจำเลยที่ 1 ก็จะไม่จ่ายเงินให้หากลายมือชื่อไม่เหมือนกัน แต่ที่จ่ายให้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างทำงานอยู่ในสำนักงานของจำเลยที่ 1สาขาสนามจันทร์ด้วยกัน จึงเชื่อใจอนุโลมและยืดหยุ่นจ่ายให้ไป โดยมิได้ใส่ใจให้ความสำคัญแก่ลายมือชื่อผู้ถอนเงินว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงหรือไม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ใบถอนเงินลงชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเองแต่ไม่มีตัวโจทก์มาพนักงานของโจทก์ก็ยังจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแทน พฤติการณ์ชี้ชัดว่าพนักงานของจำเลยที่ 1ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 หากพนักงานของจำเลยที่ 1ใช้ความละเอียดรอบคอบและความระมัดระวังเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพธนาคารแล้ว ก็ย่อมจะทราบได้ว่าลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินเป็นลายมือชื่อปลอม และจำเลยที่ 2 ก็จะไม่สามารถถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปได้ ส่วนที่โจทก์ฝากสมุดเงินฝากไว้กับจำเลยที่ 2 นั้นเห็นได้ว่าโจทก์ทำไปโดยสุจริต เพราะเชื่อใจจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลานของโจทก์และเป็นผู้จัดการให้โจทก์ฝากเงินกับจำเลยที่ 1 สาขาสี่แยกสนามจันทร์ ประกอบกับโจทก์เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถถอนเงินฝากได้ คงมีแต่โจทก์แต่เพียงผู้เดียวที่มีอำนาจถอนเงินฝากได้ แม้ในปกหน้าด้านในจะมีข้อความให้ผู้ฝากเงินเป็นผู้เก็บรักษาสมุดเงินฝากเองก็ตามก็เป็นเพียงคำแนะนำมิใช่ข้อตกลงในการฝากเงิน ทั้งโจทก์เองก็ไม่ได้รับสมุดเงินฝากและไม่เห็นคำแนะนำหรือคำเตือนดังกล่าว เนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับและเก็บรักษาสมุดเงินฝากไว้แทนตั้งแต่แรก ส่วนในคำขอเปิดบัญชีเงินฝากนั้นก็ไม่ได้มีเงื่อนไขโดยชัดแจ้งว่าผู้ฝากหรือโจทก์จะต้องเก็บรักษาสมุดเงินฝากไว้เอง คงมีแต่คำแนะนำว่าควรเก็บไว้ในที่ปลอดภัยเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปได้จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผลโดยตรงจากการที่โจทก์ฝากสมุดเงินฝากไว้กับจำเลยที่ 2 การกระทำของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7วินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์เพียงกึ่งหนึ่งนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียเกินมาจำนวน 8,252.50 บาท แก่โจทก์