คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10468/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาร่วมลงทุนระหว่างโจทก์กับพวกฝ่ายหนึ่ง และบริษัท อ. อีกฝ่ายหนึ่ง จัดตั้งบริษัทจำเลยขึ้นมาให้มีฐานะเป็นบริษัทร่วมทุน และกำหนดให้จำเลยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาทุกประการ แต่จำเลยหามีฐานะเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมลงทุนไม่ ดังนั้น แม้ในสัญญามีข้อกำหนดว่า ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญานี้หรือเกี่ยวกับการปฏิบัติสัญญานี้และคู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด ก็เป็นข้อบังคับใช้ระหว่างโจทก์กับพวกและบริษัท อ. เท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยโดยไม่จำต้องเสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน
จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด การแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการจักต้องอยู่ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1151 ซึ่งระบุเฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเท่านั้นจึงจะกระทำได้ รวมตลอดทั้งหากตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ กรรมการที่ยังมีอยู่แห่งนิติบุคคลนั้นมีสิทธิเลือกผู้อื่นตั้งขึ้นใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างได้ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1155 บัญญัติไว้ ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการตามข้อกำหนดในสัญญาร่วมทุน และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ในเหตุนี้ ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
หมายเหตุ วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 9/2546

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการจากนายบุญมี จันทรวงศ์ เป็นนายอนันต์ ชำนาญกิจ ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะตามสัญญาร่วมลงทุนกำหนดว่า ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญานี้ ถ้าคู่สัญญาไม่อาจตกลงกันได้ ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด โจทก์จึงต้องเสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทจากนายบุญมี จันทรวงศ์ เป็นนายอนันต์ ชำนาญกิจ ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครภายใน ๑๔ วัน มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๑,๐๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยโดยมิได้เสนอข้อโต้แย้งต่ออนุญาโตตุลาการก่อนเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า สัญญาร่วมลงทุนตั้งบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมนั้น เป็นการทำสัญญาร่วมกันสองฝ่ายระหว่างองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย โจทก์ กับพวกฝ่ายหนึ่ง และบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลโปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด อีกฝ่ายหนึ่ง โดยทั้งสองฝ่ายตกลงจัดตั้งบริษัทจำกัดขึ้นมาให้มีฐานะเป็นบริษัทร่วมทุน ใช้ชื่อว่าบริษัทนมไทย – เดนมาร์ค จำกัด คือจำเลย และตามสัญญาข้อ ๗ กำหนดให้จำเลยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาทุกประการ ดังนี้ จำเลยจึงหามีฐานะเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมลงทุนตั้งบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไม่ แม้สัญญาข้อ ๒๒ กำหนดว่าในกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญานี้หรือเกี่ยวกับการปฏิบัติสัญญานี้และคู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด ก็เป็นข้อบังคับใช้ระหว่างโจทก์กับพวกและบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลโปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด เท่านั้น จำเลยไม่อาจยกสัญญาข้อ ๒๒ มาใช้อ้างต่อโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยโดยไม่จำต้องเสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าจำเลยมิใช่บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลโปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์ตามสัญญาร่วมลงทุนตั้งบริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม โดยจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดต่างหากอีกรายหนึ่ง การแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการจักต้องอยู่ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๕๑ ซึ่งระบุเฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเท่านั้นจึงจะกระทำได้ รวมตลอดทั้งหากตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ กรรมการที่ยังมีอยู่แห่งนิติบุคคลนั้นมีสิทธิเลือกผู้อื่นตั้งขึ้นใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างได้ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๕๕ บัญญัติไว้ ดังนี้ โจทก์จึงหามีสิทธินำข้อกำหนดข้อ ๙ แห่งสัญญาดังกล่าวมาเป็นเหตุฟ้องจำเลยได้ไม่เช่นกัน ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้คดีในเหตุนี้ ศาลฎีกาก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบมาตรา ๒๔๖ และ ๒๔๗ เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การที่ศาลล่างทั้งสองรับวินิจฉัยและพิพากษาต้องกันมาให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการจากนายบุญมี จันทรวงศ์ เป็นนายอนันต์ ชำนาญกิจ ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครมานั้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share