คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1140/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานของจำเลยได้ตรวจสอบเอกสารบัญชีคุมสินค้าของโจทก์ซึ่งมีทั้งรายการสินค้าที่ขาดและเกินจากบัญชี โดยนำเอามูลค่าของสินค้าที่ขาดจากบัญชีคุมสินค้าตามที่โจทก์ตรวจนับเองมาคำนวณเป็นรายได้เท่ากับยอดขายสินค้า โดยถือว่าโจทก์ขายสินค้าดังกล่าวแล้วไม่ลงบัญชีหรือลงบัญชีต่ำไป แต่เมื่อโจทก์ชี้แจงถึงเหตุที่สินค้าขาดหายจากบัญชีคุมสินค้าหลายประการ เจ้าพนักงานของจำเลยก็ยอมให้โจทก์นำรายการสินค้าที่เกินจากบัญชีมาหักออกจากรายการสินค้าที่ขาดจากบัญชีสำหรับสินค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แล้วแก้รายการที่โจทก์ยื่นไว้เดิมว่าโจทก์มีรายได้จากการขายสินค้าที่ขาดจำนวนในบัญชีคุมสินค้านั้น เป็นวิธีประเมินด้วยการตรวจสอบพยานหลักฐานที่ปรากฏ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 20 มิได้ประเมินตามมาตรา 77/1 (8) (จ) จึงเป็นการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หากเห็นว่าโจทก์ต้องชำระภาษีตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ขอให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มทั้งหมดแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะที่ประเมินว่าโจทก์แสดงรายได้ขายขาดไปโดยคำนวณมูลค่าของสินค้าที่ขาดจากบัญชีคุมสินค้าถือเป็นการขายสินค้าต้องนำมาคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นชอบหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า สินค้าที่ขาดหายไปจากบัญชีคุมสินค้านั้นมิใช่เป็นการขายสินค้า โดยจำเลยจะนำนิยามคำว่า ขาย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1 (8) (จ) ซึ่งใช้บังคับในกรณีภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้กับภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ได้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏหลักฐานใดที่แสดงว่าโจทก์มีการขายสินค้าที่ขาดจากบัญชีคุมสินค้า การที่เจ้าพนักงานของจำเลยประเมินว่าโจทก์ขายสินค้าดังกล่าว ต้องนำรายได้จากการขายสินค้ามาคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานของจำเลยได้ตรวจสอบเอกสารบัญชีคุมสินค้าของโจทก์ซึ่งมีทั้งรายการสินค้าที่ขาดและเกินจากบัญชี โดยนำเอามูลค่าของสินค้าที่ขาดจากบัญชีคุมสินค้าตามที่โจทก์ตรวจนับเองมาคำนวณเป็นรายได้เท่ากับยอดขายสินค้า โดยถือว่าโจทก์ขายสินค้าดังกล่าวแล้วไม่ลงบัญชีหรือลงบัญชีต่ำไป แต่เมื่อโจทก์ชี้แจงถึงเหตุที่สินค้าขาดหายจากบัญชีคุมสินค้าหลายประการ เจ้าพนักงานของจำเลยก็ยอมให้โจทก์นำรายการสินค้าที่เกินจากบัญชีมาหักออกจากรายการสินค้าที่ขาดจากบัญชีสำหรับสินค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แล้วแก้รายการที่โจทก์ยื่นไว้เดิมว่าโจทก์มีรายได้จากการขายสินค้าที่ขาดจำนวนในบัญชีคุมสินค้านั้น เป็นวิธีประเมินด้วยการตรวจสอบพยานหลักฐานที่ปรากฏ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 20 มิได้ประเมินตามมาตรา 77/1 (8) (จ) จึงเป็นการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกต้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share