คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7445/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยรับเงินค่าสินค้าจากลูกค้าของโจทก์ร่วมที่จังหวัดต่างๆ แล้วไม่โอนเงินค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วมกับไม่มาชำระบัญชีกับโจทก์ร่วมที่อำเภอกระทุ่มแบน ดังนี้ ความผิดฐานยักยอกจึงอาจเกิด อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยรับเงินจากลูกค้าของโจทก์ร่วมแต่ละจังหวัดจนถึงสำนักงานของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องมาชำระบัญชีกับโจทก์ร่วม กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำความผิดต่อเนื่องกันในท้องที่ต่างๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป และเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) และ (4) พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อโจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบนจึงมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้หนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์มิได้ระบุว่า ให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่ผู้ใด แต่ก็ระบุให้ พ. มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นการมอบอำนาจทั่วไป และต่อมาโจทก์ร่วมก็มอบอำนาจให้ พ. ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหายักยอก เมื่ออ่านประกอบกันโดยตลอดย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ พ. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาอะไรแล้ว การมอบอำนาจของโจทก์ร่วมที่ให้ พ. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
หนังสือรับสารภาพเป็นเพียงเอกสารที่จำเลยรับว่า ไม่ได้นำเงินจำนวน 3,266,808 บาท ส่งคืนโจทก์ร่วม ยอมรับว่าได้กระทำผิดจริง และยอมชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนให้โจทก์ร่วม โดยยินยอมให้ยึดถือที่ดินและรถยนต์ไว้ก่อน ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงว่า โจทก์ร่วมตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการยอมความทางอาญาโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับตามป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 91 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 3,276,808 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัท ดีสโตน จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 4 กระทง จำคุก 24 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 3,276,808 บาทแก่ผู้เสียหาย (ที่ถูก แก่โจทก์ร่วม)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบนเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ไม่มีการกระทำความผิดฐานยักยอกในท้องที่สถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบนและจำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของสถานีตำรวจดังกล่าวซึ่งเป็นท้องที่ที่ถูกจับ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 เห็นว่า การที่จำเลยรับเงินค่าสินค้าจากลูกค้าของโจทก์ร่วมที่จังหวัดต่าง ๆ แล้วไม่โอนเงินค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วมกับไม่มาชำระบัญชีกับโจทก์ร่วม ดังนี้ ความผิดฐานยักยอกจึงอาจเกิดอ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยรับเงินจากลูกค้าของโจทก์ร่วมแต่ละจังหวัดจนถึงสำนักงานของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องมาชำระบัญชีกับโจทก์ร่วม กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำความผิดต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปและเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (3) และ (4) พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อโจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบนพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบนจึงมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยฎีกาประการต่อไปว่า การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจไม่ปรากฏว่ามอบอำนาจให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงไม่มีการสอบสวนและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า แม้หนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์มิได้ระบุว่าให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่ผู้ใด แต่ก็ระบุให้นายพิบูลย์ มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นการมอบอำนาจทั่วไปและต่อมาโจทก์ร่วมก็มอบอำนาจให้นายพิบูลย์ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหายักยอก เมื่ออ่านประกอบกันโดยตลอดย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้นายพิบูลย์ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาอะไรแล้ว การมอบอำนาจของโจทก์ร่วมที่ให้นายพิบูลย์ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย จึงชอบด้วยกฎหมายพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (2) หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ตกลงระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยจำเลยยินยอมให้ยึดถือโฉนดที่ดินและรถยนต์ไว้ เห็นว่า หนังสือรับสารภาพเป็นเพียงเอกสารที่จำเลยรับว่าไม่ได้นำเงินจำนวน 3,276,808 บาท ส่งคืนโจทก์ร่วมยอมรับว่าได้กระทำผิดจริงและยอมชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนให้โจทก์ร่วม โดยยินยอมให้ยึดถือที่ดินและรถยนต์ไว้ก่อน ไม่มีข้อความตอนใดเลยที่แสดงว่าโจทก์ร่วมตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการยอมความทางอาญาโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 39 (2) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share