แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การพิจารณาว่าเจ้าหนี้ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ตรี หรือไม่ ต้องพิจารณาถึงสิทธิของเจ้าหนี้ต่าง ๆ ที่แผนฟื้นฟูกิจการได้จัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ส่วนเจ้าหนี้ซึ่งอยู่ต่างกลุ่มกัน เมื่อมีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ แผนสามารถกำหนดให้เจ้าหนี้ต่างกลุ่มกัน ได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันได้
การที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้ย่อมมีบุริมสิทธิในอันที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์หลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งในการฟื้นฟูกิจการ กฎหมายได้ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้มีประกันอันเกิดจากความล่าช้าในการบังคับคดี ให้ได้รับความคุ้มครองในเหตุที่มูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันลดลงตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/13 (2) และมาตรา 90/14 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีความสำคัญ และมีข้อต่อรองมากกว่าเจ้าหนี้ไม่มีประกัน เพราะเจ้าหนี้มีประกันมีหลักประกันยึดถือไว้ หากแผนฟื้นฟูกิจการไม่ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ มีประกันอย่างเพียงพอ เจ้าหนี้ก็อาจขออนุญาตใช้สิทธิบังคับขายหลักประกัน ประกอบกับทรัพย์หลักประกัน ที่เป็นเครื่องจักรย่อมมีการเสื่อมสภาพ เสื่อมราคาและราคาลดลงอย่างรวดเร็ว หากกำหนดให้เจ้าหนี้มีประกัน ได้รับชำระหนี้พร้อมกับเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะทำให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับความเสียหาย
ลูกหนี้มีความสัมพันธ์กับบริษัท ร. โดยลูกหนี้ถือหุ้นในบริษัท ร. ร้อยละ 99.9 ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ในคดีนี้ ส่วนบริษัท ร. ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ การที่เจ้าหนี้รายหนึ่งรายใดที่บริษัท ร. เป็นลูกหนี้ชั้นต้นและลูกหนี้เป็นผู้ค้ำประกันจะได้รับชำระหนี้ตลอดจนการพิจารณาจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จากสินทรัพย์ของทั้งสองบริษัท จะต้องมีความสัมพันธ์กันและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้โดยรวม
การอุทธรณ์คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนถือว่าเป็นการอุทธรณ์คำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งนายพีรพันธุ์ พาลลุสุข เป็นผู้ทำแผน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๔ ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการที่มีการแก้ไขแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๖ (๒) ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ส่งแจ้งความกำหนดวันนัดพิจารณาให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๖ แล้ว
ผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ ๘ ยื่นคำคัดค้านว่า แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้นำเงินจำนวน ๑๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งไม่ใช่เงินที่ได้มาจากการบังคับหลักประกัน ชำระให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๑ และที่ ๒ ก่อนเป็นเงิน ๓๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ภายใน ๓๕ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน จากนั้นกำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้รับชำระหนี้ จำนวน ๓๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท จากการขายหลักประกันตามแผนข้อ ๕.๔ ภายใน ๓๖๐ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบ ด้วยแผน ทำให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๓ และที่ ๔ เสียเปรียบในส่วนของมูลหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน สิทธิของเจ้าหนี้ในส่วนของมูลหนี้ไม่มีหลักประกันไม่เท่าเทียมกัน ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนของลูกหนี้ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๒ ตรี
ผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ ๑๒ ยื่นคำคัดค้านว่า แผนฟื้นฟูกิจการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๘ (๓) กล่าวคือ หากผู้คัดค้านที่ ๒ เลือกรับชำระหนี้ตามแผนก็จะไม่มีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้จากบริษัทระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้ทางตรงของผู้คัดค้านที่ ๒ และหากผู้คัดค้านที่ ๒ เลือกไม่รับชำระหนี้จากลูกหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน ก็จะมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากภาระค้ำประกันเป็นการจำกัดสิทธิของผู้คัดค้านที่ ๒ ที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้และบริษัทระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด แผนฟื้นฟูกิจการจึงไม่เป็นธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาอย่างชัดเจน และเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ ทุกราย เจ้าหนี้ในกลุ่มเดียวกันได้รับชำระหนี้เท่าเทียมกันทุกประการ
ส่วนประเด็นที่ผู้คัดค้านที่ ๒ คัดค้านนั้น แผนได้กำหนดเงื่อนไขไว้ให้เจ้าหนี้ผู้ค้ำประกันของลูกหนี้มีสิทธิเลือกรับชำระหนี้ทางใดทางหนึ่ง มิได้เป็นการจำกัดสิทธิของผู้คัดค้านที่ ๒ หากแต่ว่าการรับชำระหนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ทางตรงซึ่งการชำระหนี้ยังมิได้ผิดนัด และมาขอรับชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันตามแผนจะทำให้เจ้าหนี้ทางตรงของบริษัทระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด และเจ้าหนี้ทางตรงของลูกหนี้ได้รับความไม่เป็นธรรมในการชำระหนี้เนื่องจากหนี้ที่ได้รับการจัดสรรจะถูกหักลดลงและจะก่อให้เกิดปัญหาในด้านการชำระบัญชีเพราะการชำระหนี้ครบทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยมีระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ประมาณ ๑๐ ปี แต่หนี้ที่ถูกจัดสรรให้ชำระหนี้ตามแผนจะมีการปลดเปลื้องภาระหนี้บางส่วนและจะทำให้การชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น ภายใน ๑ ปี นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำชี้แจงว่า การจัดสรรหนี้ของผู้ทำแผนตามแผนไม่ทำให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๓ และที่ ๔ เสียเปรียบในการรับชำระหนี้ช้าลง ผู้ทำแผนได้พยายามจัดสรรการชำระหนี้โดยคำนึงถึงลำดับความสำคัญของหนี้ มีหลักประกันและหนี้ไม่มีหลักประกัน ส่วนข้อคัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๒ เงื่อนไขที่อ้างหากเจ้าหนี้ตกลงด้วยก็สามารถปฏิบัติได้ แต่อย่างไรก็ตามในแผนฉบับแก้ไขใหม่มิได้กล่าวถึงเงื่อนไขที่ผู้คัดค้านที่ ๒ อ้าง
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๕๘
ผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ ๑ ประการแรกว่า ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๒ ตรี หรือไม่ เห็นว่า ตามที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๒ ตรี บัญญัติว่า “สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน
” นั้น การพิจารณาว่าเจ้าหนี้ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้หรือไม่ ต้องพิจารณาถึงสิทธิของเจ้าหนี้ต่าง ๆ ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการได้จัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ส่วนเจ้าหนี้ซึ่งอยู่ ต่างกลุ่มกัน เมื่อมีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการ แผนสามารถกำหนดให้เจ้าหนี้ ต่างกลุ่มกันได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันได้ แผนฟื้นฟูกิจการบทที่ ๔ ได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ออกเป็น ๔ กลุ่มได้แก่ เจ้าหนี้ กลุ่มที่ ๑ เจ้าหนี้มีประกันซึ่งจำนวนหนี้คงค้างไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๕ ของจำนวนหนี้ทั้งหมด เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๒ เจ้าหนี้ มีประกันซึ่งจำนวนหนี้คงค้างน้อยกว่าร้อยละ ๑๕ ของจำนวนทั้งหมด เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๓ เจ้าหนี้ไม่มีประกัน และเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ เจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทค้ำประกัน ซึ่งตามแผนฟื้นฟูกิจการบทที่ ๔ เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเจ้าหนี้ มีประกัน ส่วนผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน การที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ มีประกันย่อมมีบุริมสิทธิในอันที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์หลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งในการฟื้นฟูกิจการ กฎหมายได้ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้มีประกันอันเกิดจากความล่าช้าในการดำเนินคดี ให้ได้รับความคุ้มครองในเหตุที่มูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันลดลงตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๑๓ (๒) และมาตรา ๙๐/๑๔ แม้ว่ายอดเงินจำนวน ๑๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท จะมิได้เกิดจากเงินที่รวบรวมจากการจำหน่ายทรัพย์หลักประกัน แต่ในส่วนของ เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีความสำคัญและข้อต่อรองมากกว่าเจ้าหนี้ไม่มีประกัน เพราะเจ้าหนี้มีประกันมีหลักประกันยึดถือไว้ หากแผนฟื้นฟูกิจการไม่ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอ เจ้าหนี้ก็อาจขออนุญาตใช้สิทธิบังคับขายหลักประกันซึ่งทรัพย์ที่เป็นหลักประกันจะเป็นที่ดิน อาคาร และเครื่องจักรต้องใช้ประกอบในการดำเนินงานของลูกหนี้ และต้องขายตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นหลักประกันที่เป็นเครื่องจักรย่อมมีการเสื่อมสภาพเสื่อมราคาและราคาลดลงอย่างรวดเร็ว หากกำหนดให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับชำระหนี้พร้อมกับเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะทำให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับความเสียหาย ข้อกำหนดของแผนดังกล่าวจึงมีเหตุสมควรและเป็นไปตามสิทธิตามกฎหมายที่เจ้าหนี้มีอยู่ ก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทุกรายและเจ้าหนี้ในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติ เท่าเทียมกันมิได้มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๔๒ ตรี แต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ ๑ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านที่ ๒ อุทธรณ์ว่า แผนฟื้นฟูกิจการจำกัดสิทธิของผู้คัดค้านที่ ๒ โดยต้องเลือกรับชำระหนี้หรือไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้หรือบริษัทระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่หากศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ผู้คัดค้านที่ ๒ ยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในคดีล้มละลายของลูกหนี้ และยังคงมีสิทธิเรียกร้องดำเนินคดีแก่บริษัทระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นได้อีก แผนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ลูกหนี้มีความสัมพันธ์กับบริษัทระยองไวร์ อันดัสตรีส์ จำกัด โดยลูกหนี้ได้ถือหุ้นในบริษัทระยองไวร์ อันดัสตรีส์ จำกัด ร้อยละ ๙๙.๙ ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ในคดีนี้ ส่วนบริษัทระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๔๓ การที่เจ้าหนี้รายหนึ่งรายใดที่บริษัทระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด เป็นลูกหนี้ชั้นต้น และลูกหนี้เป็นผู้ค้ำประกันจะได้รับชำระหนี้ตลอดจนการพิจารณาจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จากสินทรัพย์ของทั้งสองบริษัท จึงต้องมีความสัมพันธ์กันและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้โดยรวม ตามที่แผนกำหนดให้ผู้คัดค้านที่ ๒ อยู่ในกลุ่มที่ ๔ เจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทค้ำประกันโดยข้อ ๖.๓.๔ ระบุว่า เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ ของลูกหนี้จะต้องยืนยันความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้บริหารแผนหรือคณะกรรมการเจ้าหนี้ว่า จะใช้สิทธิในการเรียกร้องจากลูกหนี้ว่าจะขอรับชำระหนี้ในฐานะเทียบเท่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๓ ภายใน ๓๐ วัน หลังจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนของลูกหนี้ ในกรณีที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ ยืนยันจะใช้สิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้ ลูกหนี้จะมีสิทธิไล่เบี้ยแก่ลูกหนี้ชั้นต้นที่เป็นหนี้ต่อเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ ตามจำนวนเงินที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๓ ได้รับชำระจากลูกหนี้ แต่อย่างไรก็ตามเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ ที่ไม่ยืนยันความจำนงจะใช้สิทธิภายในวันเวลาดังกล่าวข้างต้นให้ถือว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ สละสิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้โดยจะไปดำเนินการเรียกร้องจากลูกหนี้ชั้นต้นของเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ โดยตรง กรณีที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ ยืนยันจะใช้สิทธิรับชำระหนี้จากลูกหนี้ เจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ จะต้องสละสิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้ชั้นต้นโดยให้ลูกหนี้มีสิทธิไล่เบี้ยในการเรียกชำระหนี้แทนเจ้าหนี้กลุ่มที่ ๔ ซึ่งปรากฏตามคำชี้แจงของผู้ทำแผนว่า การที่แผนมีข้อกำหนดดังกล่าวสำหรับเจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทค้ำประกันเนื่องจากผู้คัดค้านที่ ๒ มีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยตรงจากบริษัทระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เต็มจำนวนรวมทั้งดอกเบี้ย ซึ่งยังมิได้มีการผิดนัดชำระหนี้ และยังขอรับชำระหนี้จากลูกหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันของบริษัทระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด อีกด้วย ทำให้เจ้าหนี้โดยตรงของลูกหนี้และบริษัทระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด ได้รับความไม่เป็นธรรมในการชำระหนี้เนื่องจากหนี้ที่ได้รับการจัดสรรจะถูกหักลดลงและก่อให้เกิดปัญหาด้านการชำระบัญชี แผนจึงต้องมีข้อกำหนดเป็นเงี่อนไขสำหรับเจ้าหนี้ไม่มีประกันประเภทค้ำประกันเช่นผู้คัดค้านที่ ๒ เพื่อไม่ให้ได้เปรียบเจ้าหนี้ทางตรงรายอื่น ๆ ทั้งเมื่อปรากฏจากคำแก้อุทธรณ์ของผู้ทำแผนว่าบริษัทระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด ก็มีทรัพย์สินซึ่งเป็นเพียงเครื่องจักรและติดจำนองไว้กับเจ้าหนี้มีประกัน ถ้าขายทอดตลาดก็ยังไม่พอชำระหนี้เจ้าหนี้มีประกันแต่อย่างใด เช่นนี้ข้อกำหนดในแผนจึงได้ดำเนินการไปเพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้โดยรวมมากที่สุด อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การอุทธรณ์คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนถือว่าเป็นการอุทธรณ์คำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณ เป็นราคาเงินได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นนี้เพียง ๒๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๒ เสียค่าขึ้นศาลชั้นนี้มารายละ ๑,๐๐๐ บาท ค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาจึงให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๒
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๒ รายละ ๘๐๐ บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นพิจารณาเห็นชอบด้วยแผนทั้งสองชั้นศาลนอกจากค่าขึ้นศาลที่ศาลฎีกาสั่งคืนให้เป็นพับ .