คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5692/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ไม่ถูกต้องบางส่วน แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ไม่ถูกต้องมาด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้บังคับคดีแก่จำเลยเพิ่มขึ้นตามคำฟ้องโจทก์ได้ และจำเลยจะยกเอาความไม่ถูกต้องในคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมาอ้างเพื่อลบล้างคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ถูกต้องหาได้ไม่
เมื่อสัญญาเช่าเลิกกัน จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนที่ดินที่เช่าให้แก่โจทก์ในสภาพที่ได้รับมา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 561 และต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด รวมทั้งเสาเข็มของจำเลยออกไปจากที่ดินที่เช่าด้วย เพราะสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างในที่ดินที่เช่าโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าซึ่งระบุว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จึงไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินที่เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยยืนยันไม่ประสงค์จะใช้สิทธิรื้อถอนเสาเข็ม โจทก์จึงไม่อาจบังคับจำเลยได้และพิพากษาว่าจำเลยไม่ต้องรื้อถอนเสาเข็มใต้ดินนั้น ไม่ถูกต้อง แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้บังคับคดีแก่จำเลยเพิ่มขึ้นตามคำฟ้องโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายและรื้อถอนทรัพย์สินสิ่งปลูกสร้าง เสาเข็ม ฐานตอม่อและโครงเหล็กออกจากที่ดินของโจทก์และส่งมอบที่ดินคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย
จำเลยให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของจำเลยตามสัญญาออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๘๐๕๗ ตำบลบางแม่นาง (บางใหญ่) อำเภอบางใหญ่ (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี โดยปรับสภาพที่ดินของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิมโดยไม่ต้องรื้อถอนเสาเข็มใต้ดิน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ ๓,๐๐๐ บาท
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๑๘๐๕๗ ตำบลบางแม่นาง (บางใหญ่) อำเภอบางใหญ่ (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี กับโจทก์ กำหนดเวลาเช่า ๕ ปี นับแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ ต่อมาวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ขอบอกเลิกสัญญาเช่าตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปและในวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๑ จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ยืนยันการบอกเลิกการเช่าและขอรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยในที่ดินที่เช่า วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๑ โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่าโจทก์ไม่ขัดข้องที่จำเลยบอกเลิกการเช่าและให้จำเลยรีบดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินที่เช่า แต่จำเลยไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่า โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ สิ่งปลูกสร้างของจำเลยในที่ดินที่เช่าเป็นโครงเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณา คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง (ตอม่อและโครงเหล็ก) ของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่าขัดกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นเองที่วินิจฉัยว่าการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง (เสาเข็ม) ของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่าเป็นสิทธิของจำเลยตามสัญญาเช่า ซึ่งจำเลยจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ก็ได้นั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจำเลยได้ยกขึ้นอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ มิได้วินิจฉัยถึง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ (๑) ประกอบมาตรา ๒๔๗ เมื่อสัญญาเช่าได้เลิกกัน จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนที่ดินที่เช่าให้แก่โจทก์ในสภาพที่ได้รับมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๑ คือต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดซึ่งรวมถึงเสาเข็มของจำเลยออกไปจากที่ดินที่เช่าด้วย เพราะสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างในที่ดินที่เช่าโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่า ซึ่งสัญญาเช่าระบุว่า “ทรัพย์สินใด ๆ ที่ได้ปลูกสร้างและติดตั้งในสถานที่เช่านี้ อันเกิดจากการเช่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่า เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิรื้อถอนคืนไปได้ทั้งสิ้น…” จึงไม่ถือว่าสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นส่วนควบกับที่ดินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖ อีกทั้งจำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่าเพราะโจทก์ไม่ยินยอม หาได้ให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยมีสิทธิเลือกที่จะไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินที่เช่าตามสัญญาเช่าไม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยยืนยันไม่ประสงค์จะใช้สิทธิรื้อถอนเสาเข็ม โจทก์จึงไม่อาจบังคับจำเลยได้ และพิพากษาว่าจำเลยไม่ต้องรื้อถอนเสาเข็มใต้ดินนั้น ไม่ถูกต้อง แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้บังคับคดีแก่จำเลยเพิ่มขึ้นตามคำฟ้องโจทก์ได้ ส่วนจำเลยจะยกเอาความไม่ถูกต้องในคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมาอ้างเพื่อลบล้างคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนที่ถูกต้องหาได้ไม่ และกรณีถือได้ว่าจำเลยสละกรรมสิทธิ์เสาเข็มให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์แล้ว
พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๒,๐๐๐ บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาให้แก่จำเลยชั้นศาลละ ๑,๐๕๐ บาท ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๒,๐๐๐ บาท แทนโจทก์.

Share