คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5395/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากบริษัท ซ. เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง TIAN DI ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ แต่ตามข้อตกลงอันเป็นเงื่อนไขของสัญญาเป็นการอนุญาตให้โจทก์มีสิทธิแต่ผู้เดียวหรือโดยเด็ดขาดในการฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวในประเทศไทย รวมทั้งการนำไปผลิตเป็นโฮมวิดีโอในประเภทวิดีโอซีดี และดิจิตอล เวอร์แซทไทล์ ดิสค์ ออกให้เช่าและขายด้วยตลอดระยะเวลา 60 เดือน นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2543 อันเป็นลิขสิทธิ์บางส่วนในงานภาพยนตร์ การที่จำเลยทั้งสองได้นำภาพและเสียงของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไปผลิตเป็นแผ่นวิดีโอซีดีออกจำหน่ายแก่ประชาชนในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ในระหว่างอายุสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยเด็ดขาด จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่โจทก์มีสิทธิใช้แต่ผู้เดียวในประเทศไทย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๔ , ๖ , ๘ , ๑๕ , ๑๖ , ๑๗ , ๑๙ , ๒๑ , ๒๗ , ๒๘ , ๒๙ , ๓๑ , ๖๑ , ๗๐ , ๗๔ และ ๗๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และสั่งจ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๒๘ (๑) , ๖๙ วรรคสอง ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ปรับ ๖๐๐,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๒ จำคุก ๒ ปี ปรับ ๖๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๒ คงจำคุก ๑ ปี ปรับ ๓๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีส่วนของจำเลยที่ ๒ แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ ๒ กลับตัวเป็นคนดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ให้จ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ , ๓๐
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ผู้รับโอนลิขสิทธิ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้โจทก์เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากบริษัทไชน่าสตาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ดิสตรีบิวชั่น จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง TIAN DI ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (License Agreement) พร้อมคำแปล แต่ตามข้อตกลงอันเป็นเงื่อนไขของสัญญาเป็นการอนุญาตให้โจทก์แต่ผู้เดียวหรือโดยเด็ดขาด (Exclusive for the Term) ในการฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวในประเทศไทย รวมทั้งการนำไปผลิตเป็นโฮมวิดีโอในประเภทวีดิโอซีดีและดิจิตอล เวอร์แซทไทล์ดิสก์ ออกให้เช่าและขายด้วยตลอดระยะเวลา ๖๐ เดือน นับแต่วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๓ อันเป็นลิขสิทธิ์บางส่วนในงานภาพยนตร์ การที่จำเลยทั้งสองได้นำภาพและเสียงของภาพยนตร์เรื่องTIAN ID ไปผลิตเป็นแผ่นวิดีโอซีดีออกจำหน่ายแก่ประชาชนในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ในระหว่างอายุสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยเด็ดขาด จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่โจทก์มีสิทธิใช้แต่ผู้เดียวในประเทศไทย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้จำคุก ๒ ปี และปรับ ๔๐๐,๐๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท และส่วนจำเลยที่ ๒ ให้จำคุก ๑ ปี และปรับ ๒๐๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ ๒ ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

Share