คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2654/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14ขณะจำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับดอกเบี้ยและส่วนลดให้สินเชื่อโจทก์จึงมีคำสั่งและประกาศอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้ารายใหญ่และรายย่อยชั้นดีโดยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีทั้งประเภทเบิกเงินเกินบัญชีและเงินกู้แบบมีระยะเวลาอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้ารายย่อยชั้นดีในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเกินกว่าอัตราตามคำสั่งและประกาศของโจทก์เป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3(ก) การกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี จึงตกเป็นโมฆะ แม้ตามความจริงโจทก์จะคิดดอกเบี้ยไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่อาจทำให้ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะกลายเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ เมื่อข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วเท่ากับสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยตามสัญญาเดิมได้อีกแต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินโจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
การชำระดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยความสมัครใจของลูกหนี้เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันต้องชำระ จึงไม่อาจนำมาหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับได้อีก ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246,247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์จำนวน 3,163,749.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ24 ต่อปี ของต้นเงิน 2,571,763.44 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์จำนองตลอดจนทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินจำนวน 28,084.93 บาท มาหักชำระหนี้ให้โจทก์ ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2539 โดยกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับถ้ายังมีหนี้ต้นเงินเหลืออยู่เพียงใดก็ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนไปตามบัญชีเดินสะพัดเอกสารหมาย จ.12 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี แบบทบต้นทุกเดือนจนถึงวันที่ 12 มีนาคม 2540 หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบหากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2539 จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 1,200,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19ต่อปี และยินยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ โดยตกลงผ่อนชำระเดือนละไม่น้อยกว่า 30,000 บาท ภายในทุกวันสิ้นเดือนและต้องชำระหนี้เสร็จภายใน 60 เดือนนับแต่วันทำสัญญา ในวันเดียวกันจำเลยทั้งสองทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จำนวน 1,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือนและต้องชำระหนี้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา จำเลยที่ 2 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 31887 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคายจังหวัดหนองคาย พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ภายในวงเงิน2,200,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยตกลงว่าหากบังคับจำนองไม่พอชำระหนี้ ยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินครั้งสุดท้ายวันที่ 22พฤษภาคม 2539 จำนวน 28,084.93 บาท และผิดนัดไม่ชำระหนี้ตลอดมา ส่วนสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้นำเงินเข้าหักบัญชีกับโจทก์ โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นโมฆะหรือไม่โจทก์ฎีกาว่าแม้ว่าตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีก็ตามแต่ความเป็นจริงโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถึงร้อยละ 19 ต่อปีโดยโจทก์คิดดอกเบี้ยตามประกาศหรือคำสั่งของโจทก์บวกอัตราความเสี่ยงอีกร้อยละ 2ตามประเพณีของธนาคารจึงมิใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดการคิดดอกเบี้ยในอัตราต่าง ๆ ของโจทก์จึงไม่ตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 ขณะจำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อตามเอกสารหมายจ.16 โจทก์จึงมีคำสั่งและประกาศอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้ารายใหญ่และรายย่อยชั้นดีตามเอกสารหมาย จ.15 ซึ่งในเอกสารดังกล่าวแผ่นที่ 22 ถึง 24 กำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ทั้งประเภทเบิกเงินเกินบัญชีและประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลาอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี และกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี ทั้งประเภทเบิกเงินเกินบัญชีและเงินกู้แบบมีระยะเวลาอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปีกรณีของจำเลยทั้งสองจึงอยู่ในประเภทสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14.75 ต่อปี โจทก์คิดดอกเบี้ยตามสัญญาทั้งสองนี้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเกินกว่าอัตราร้อยละ 14.35 ต่อปี ตามคำสั่งและประกาศของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.15เป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3(ก) การกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี จึงเป็นโมฆะ แม้ตามความเป็นจริงโจทก์จะคิดดอกเบี้ยตามประกาศของโจทก์บวกอัตราความเสี่ยงอีกร้อยละ 2 คืออัตราร้อยละ 16.75ต่อปี ไม่ถึงร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่อาจทำให้ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะกลายเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นโมฆะศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในสัญญากู้ยืมเงินนับแต่วันทำสัญญาวันที่ 12 มีนาคม 2539 และให้ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแบบทบต้นทุกเดือน นับแต่วันทำสัญญาวันที่ 12 มีนาคม 2539 จนถึงวันที่ 12 มีนาคม 2540 หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เป็นการไม่ชอบเพราะเมื่อข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้ว เท่ากับสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตามฟ้องมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยตามสัญญาเดิมได้อีกแต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินโจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งสองสัญญาโดยกำหนดระยะเวลาให้ 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือคือวันที่ 24 มิถุนายน 2541 ครบ 15วันในวันที่ 9 กรกฎาคม 2541 กำหนดวันผิดนัดทั้งสองสัญญาจึงเป็นวันที่ 10 กรกฎาคม2541 มิใช่นับแต่วันทำสัญญาดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นำเงินจำนวน 28,084.93 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 22พฤษภาคม 2539 มาหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินในสัญญากู้ยืมเงินตามลำดับนั้น ก็เป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นการชำระดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยความสมัครใจของจำเลยที่ 1 เท่ากับเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โดยที่รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันต้องชำระ จึงไม่อาจนำมาหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับได้อีก ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยไม่นำเงินจำนวน 28,084.93 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ไปแล้วมาหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share