คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3589/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (1) กำหนดว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่ง ถูกเลิกจ้างในกรณีลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ แต่บทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ไว้ และมิได้ใช้ คำว่า “โดยทุจริต” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรมคือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง โจทก์รับเงิน 100 บาท ที่ ว. ลูกค้าของจำเลยนำมามอบให้โจทก์ภายหลังจากที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ขับรถโฟล์กลิฟท์ยกสินค้าให้ ว. ตามปกติเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นฝ่ายเรียกร้องหรือสร้างเงื่อนไขจนเป็นเหตุให้ ว. ต้องมอบเงินดังกล่าวให้โจทก์ กรณียังไม่พอถือว่าโจทก์มีความประพฤติชั่ว โกง ไม่ ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (1) และ (4) จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

ย่อยาว

โจกท์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๓,๘๘๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๑,๔๕๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ และค่าชดเชย ๔๓,๗๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง จนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์
จำเลยให้การว่าขณะที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ขับรถโฟล์กลิฟท์ยกสินค้าให้แก่ลูกค้าของจำเลย โจทก์ได้รับเงิน ๑๐๐ บาท จากลูกค้าดังกล่าว อันเป็นการขัดคำสั่ง เรื่อง ห้ามพนักงานเรียกค่าสินจ้าง รางวัล หรือค่าฝีมือจากผู้ใช้บริการ และทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์รับไปครบถ้วนแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกา วินิจฉัยว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ มีหน้าที่ขับรถโฟล์กลิฟท์ยกสินค้าให้แก่ลูกค้า ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๗,๒๙๐ บาท เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ จำเลยได้ออกคำสั่ง ห้ามพนักงานเรียกค่าสินจ้าง รางวัล หรือค่าฝีมือจากลูกค้า ต่อมาวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๓ หลังจากโจทก์ทำหน้าที่ขับรถโฟล์กลิฟท์ยกสินค้าให้แก่ ว. ลูกค้าของจำเลยเสร็จแล้ว ว. นำเงิน ๑๐๐ บาท มาวางให้โจทก์ไว้บนรถโฟล์กลิฟท์ที่โจทก์ขับ โจทก์รับเงินดังกล่าวจาก ว. เพื่อเป็นสินจ้างรางวัล เป็นการขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย และทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงตามเอกสารหมาย ล. ๖ บทที่ ๙ ว่าด้วยวินัยและการลงโทษ ข้อ ๑.๑๙ ทุจริตต่อหน้าที่หรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น โจทก์อุทธรณ์ว่าการทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๑) จะต้องเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นตามคำจำกัดความของคำว่า ” โดยทุจริต” ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ (๑) จากทรัพย์ของนายจ้างหรือผลประโยชน์ที่นายจ้างจะได้รับเท่านั้น โจทก์รับเงินของ ว. ที่มอบให้เป็นสินน้ำใจไม่ใช่เงินของจำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย แก่โจทก์ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๑) นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ แก่ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างในกรณีลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ไว้และมิได้ใช้คำว่า “โดยทุจริต” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ (๑) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรมคือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การที่โจทก์รับเงิน ๑๐๐ บาท ที่ ว. ลูกค้าของจำเลยนำมาวางมอบให้โจทก์เองภายหลังจากที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ขับรถโฟล์กลิฟท์ยกสินค้าให้ ว. ตามปกติเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นฝ่ายเรียกร้องหรือสร้างเงื่อนไขใดจนเป็นเหตุให้ ว. ต้องมอบเงินดังกล่าวให้โจทก์ ยังไม่พอถือว่าโจทก์มีความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และขัดคำสั่งของจำเลยดังกล่าวหรือทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๑) และ (๔) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ โจทก์ทำงานติดต่อกันครบ ๓ ปี แต่ไม่ครบ ๖ ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๑๘๐ วัน เป็นเงิน ๔๓,๗๔๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันเลิกจ้าง อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๔๓,๗๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share