คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5960/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองกับพวกจัดตั้งบริษัทขึ้นและหลอกลวงประชาชนโดยกระทำต่อเนื่องกันด้วยจุดประสงค์เดียวกัน แม้ผู้เสียหายแต่ละคนมอบเงินให้จำเลยทั้งสองกับพวกคนละคราวกัน ก็ย่อมเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 กระทงหนึ่ง และเมื่อพ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ออกใช้บังคับแล้ว จำเลยทั้งสองยังคงกระทำผิดต่อไปอีก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตามมาตรา 4, 5, 12 แห่ง พ.ร.ก.ดังกล่าว อีกกระทงหนึ่ง
ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาให้จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละไม่เกิน 5 ปี จำเลยที่ 2 ย่อมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ตามป.วิ.อ.มาตรา 218 การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำผิดกฎหมาย อีกทั้งการโฆษณาของจำเลยมิใช่เป็นการหลอกลวงประชาชนแต่ประการใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑, ๓๔๓, ๘๓, ๙๑ พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔, ๕, ๙, ๑๒ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนต้นเงินที่ฉ้อโกงแก่ผู้เสียหาย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนต้นเงินเสร็จ กับให้เรียงกระทงลงโทษ
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ ลงโทษปรับจำเลยที่หนึ่ง ๑๐,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่สอง ๕ ปี กระทงหนึ่ง ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๑๒ ลงโทษปรับจำเลยที่หนึ่ง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่สอง ๑๐ ปี อีกกระทงหนึ่ง รวมปรับจำเลยที่หนึ่ง ๑,๐๑๐,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่สอง ๑๕ ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับจำเลยที่หนึ่ง๕๐๕,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่สอง ๗ ปี ๖ เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คดีนี้เมื่อศาลลงโทษฐานฉ้อโกงประชาชนแล้วก็ไม่ต้องลงโทษตามมาตรา ๓๔๑ อันเป็นบททั่วไปอีก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า จำนวนผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนมี ๒๕๔ คน และจำนวนผู้เสียหายในความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗มี ๒๔๙ คน วันที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้จำเลยก็เป็นคนละวันกันดังนั้น จำนวนกรรมของการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นไปตามจำนวนของผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองจึงกระทำผิดแต่ละฐานหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหายที่เสียเงินให้จำเลยไปนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองกับพวกจัดตั้งบริษัทขึ้นและหลอกลวงประชาชนโดยกระทำต่อเนื่องกันด้วยจุดประสงค์เดียวกัน แม้ผู้เสียหายแต่ละคนมอบเงินให้จำเลยทั้งสองกับพวกคนละคราวกัน ก็ย่อมเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่การกระทำหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ กระทงหนึ่งและเมื่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.๒๕๒๗ออกใช้บังคับแล้ว จำเลยทั้งสองยังคงกระทำผิดต่อไปอีก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตามมาตรา ๔, ๕, ๑๒ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว อีกกระทงหนึ่ง
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ ๒ ที่ว่า จำเลยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำผิดกฎหมาย อีกทั้งการโฆษณาของจำเลยมิใช่เป็นการหลอกลวงประชาชนแต่ประการใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยมานั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๒ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๘ เพราะศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาให้จำคุกจำเลยที่ ๒ กระทงละไม่เกิน ๕ ปี ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองมิได้ประกอบกิจการใด ๆ ที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพียงพอที่จะมาจ่ายเป็นผลประโยชน์แก่ผู้เสียหายตามอัตราที่จำเลยสัญญาไว้และจำเลยทั้งสองโฆษณาหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไป ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์หลายประการที่กระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้จดทะเบียนพาณิชย์ได้ ทั้งจำเลยที่ ๑ ก็เสียภาษีถูกต้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวหาเป็นข้อแก้ตัวที่ทำให้จำเลยที่ ๒ พ้นผิดได้ไม่
พิพากษายืน.

Share