คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5785/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกหนี้เอาที่ดินของเจ้าหนี้ซึ่งใส่ชื่อลูกหนี้ไว้แทนไปจำนองและรับจะไถ่ถอนจำนองและโอนคืนให้เจ้าหนี้ภายใน 1 ปี แต่ก็ไม่ไถ่ถอนและโอนคืนตามที่รับรองไว้ ต่อมาลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดดังนี้มูลหนี้ที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นแก่เจ้าหนี้เกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ ทรัพย์เด็ดขาดย่อมถือได้ว่าสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะไถ่ถอนจำนองด้วยตนเองย่อมมีอยู่แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ ทรัพย์มูลแห่งหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองที่จะเรียกเอาจากลูกหนี้ที่ 1 จึงเกิดขึ้นแล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เพียงแต่เจ้าหนี้ยังมิได้ไถ่ถอนจำนองซึ่งถ้าเจ้าหนี้ได้ไถ่ถอนจำนองแล้วเมื่อใด ก็ย่อมเรียกให้ลูกหนี้ชดใช้เงินค่าไถ่ถอนจำนองได้เมื่อนั้นแต่โดยที่ขณะขอรับชำระหนี้เจ้าหนี้ยังไม่ได้ไถ่ถอน จำนองและไม่แน่ว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิขอไถ่ถอนจำนองนั้นเมื่อใด เจ้าหนี้จึงยังไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองได้ทันที แต่ถือได้ว่าหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองรายนี้เป็นหนี้มีเงื่อนไขและเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ เจ้าหนี้จึงย่อมขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94
หนี้ที่จะขอรับชำระได้ในคดีล้มละลายจะต้องเป็นหนี้เงินเท่านั้นซึ่งถ้ามี ดอกเบี้ย รวมอยู่ด้วยก็คิดดอกเบี้ยได้ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้โดยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นคำขอที่มีที่ดินเป็นวัตถุแห่งหนี้ ไม่ใช่หนี้เงินแม้จะมีคำขอว่า หรือให้ใช้ราคาที่ดิน กำกับอยู่ด้วยก็เป็นเพียงคำขอสำรองสำหรับใช้เป็นสภาพบังคับในกรณีที่ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่เจ้าหนี้ได้เท่านั้นจึงไม่มีสิทธิที่จะทำได้ เจ้าหนี้ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ดำเนินการเพื่อบังคับตามสิทธิของตนเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดและพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงิน ๘๒๗,๐๘๐.๓๕ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองอ้างว่าลูกหนี้ทั้งสองเป็นหนี้ตามเช็คตั๋วเงิน แชร์ และดอกเบี้ย กับค่าไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือใช้ราคาที่ดินและดอกเบี้ย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว มีความเห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามเช็คจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๒ เป็นเงิน๓๘๔,๐๖๐.๒๙ บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา๑๓๐(๘) ให้ลูกหนี้ที่ ๑ ร่วมรับผิดกับลูกหนี้ที่ ๒ ในจำนวนหนี้ดังกล่าวไม่เกิน ๓๐,๓๒๖.๗๐ บาท โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนายวิเชียร พีรเศรษฐสกุล และนายยุทธชัย กุสุมวรรณผู้สั่งจ่ายเช็คแล้วเพียงใดก็ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในคดีนี้น้อยลงเพียงนั้น ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์หรือชดใช้ราคาที่ดินพร้อมดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๐๗(๑) เสีย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๐๑๙๗ ตำบลลาดยาวอำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๐๑๗๓ ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้และเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ไม่ได้มอบอำนาจให้เจ้าหนี้มาดำเนินการ เจ้าหนี้จึงไม่มีอำนาจร้องขอให้ดำเนินการได้ พิพากษาแก้เป็นว่า หากนายควงอัษฎมงคงกูล เจ้าหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๐๑๙๗ ตำบลลาดยาวอำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เองก็อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เทาจำนวนนั้นจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๑ หรือได้รับชดใช้ราคาที่ดินจำนวน ๙๔,๐๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๘ จนกว่าจะชำระเสร็จ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๐๗(๓), ๑๓๐(๘) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๐๑๙๗ ตำบลลาดยาวอำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๑ และมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โอนกรรมสิทธิ์หรือใช้ราคาที่ดินดังกล่าวหรือไม่ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เจ้าหนี้ให้ถ้อยคำว่าที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ ๘๐๑๙๗ นี้ เจ้าหนี้เช่าซื้อมาจากสหกรณ์ออมทรัพย์กรมการปกครอง จำกัด พร้อมด้วยที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ ๘๐๑๗๓ เมื่อชำระเงินครบแล้ว ได้มอบหมายให้ลูกหนี้ที่ ๑ ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ ลูกหนี้ที่ ๑ กลับไปรับโอนโดยใส่ชื่อของลูกหนี้ที่ ๑ เองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยรับโอนเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๒๕ แล้วเอาไปจำนองไว้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๒๕ แต่ลูกหนี้ที่ ๑ ได้ทำหนังสือมอบไว้แก่เจ้าหนี้ยืนยันว่าเจ้าหนี้เป็นหนี้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง ลูกหนี้ที่ ๑ เพียงแต่ใส่ชื่อในโฉนดที่ดินแทนและจะทำการไถ่ถอนจำนองแล้วโอนคืนให้แก่เจ้าหนี้ภายในกำหนดเวลา ๑ ปี แต่เมื่อครบกำหนดเวลา ๑ ปี แล้ว ลูกหนี้ที่ ๑ก็ไม่ยอมไถ่ถอนจำนองและโอนที่ดินแปลงดังกล่าวกับที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ ๘๐๑๗๓ คืนแก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงมอบอำนาจให้ทนายความฟ้องคดี แต่ลูกหนี้ที่ ๑ ได้ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายคดีนี้ด้วยและศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๒๘ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้เจ้าหนี้มาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้จึงมาขอรับชำระหนี้ในคดีนี้และยังได้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวคืนแก่เจ้าหนี้หรือใช้ราคาที่ดินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ เป็นสาขาคดีอีกสาขาหนึ่งต่างหากด้วย
พิเคราะห์แล้ว กรณีที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองนั้นเห็นว่า ตามคำขอของเจ้าหนี้ดังกล่าวข้างต้น ได้ความชัดว่าลูกหนี้ที่ ๑ เอาที่ดินของเจ้าหนี้ไปจำนองเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๒๕และรับจะไถ่ถอนจำนองและโอนคืนให้เจ้าหนี้ภายใน ๑ ปี แต่ก็ไม่ไถ่ถอนและโอนคืนตามที่รับรองไว้ ต่อมาลูกหนี้ที่ ๑ ถูกฟ้องทั้งเป็นคดีแพ่งธรรมดาและคดีล้มละลาย ซึ่งในคดีล้มละลายนั้น ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๒๘ ดังนี้ มูลหนี้ที่ลูกหนี้ที่ ๑ ได้ก่อขึ้นแก่เจ้าหนี้นั้นเกิดก่อนวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่ ๑ เด็ดขาด ดังนั้น ย่อมถือได้ว่าสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะไถ่ถอนจำนองด้วยตนเองย่อมมีอยู่แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ มูลแห่งหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองที่จะเรียกเอาจากลูกหนี้ที่ ๑ จึงเกิดขึ้นแล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เพียงแต่เจ้าหนี้ยังไม่ได้ไถ่ถอนจำนอง ซึ่งถ้าเจ้าหนี้ได้ไถ่ถอนจำนองไปแล้วเมื่อใด ก็ย่อมเรียกให้ลูกหนี้ที่ ๑ ชดใช้เงินค่าไถ่ถอนจำนองได้เมื่อนั้น แต่โดยที่ขณะขอรับชำระหนี้นั้นเจ้าหนี้ยังไม่ได้ไถ่ถอนจำนองและไม่แน่ว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิขอไถ่ถอนจำนองนั้นเมื่อใด เจ้าหนี้จึงยังไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองได้ทันที แต่ถือได้ว่าหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองรายนี้เป็นหนี้มีเงื่อนไขและเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ เจ้าหนี้จึงย่อมขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๔ ส่วนคำขอรับชำระหนี้ที่ระบุขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือใช้ราคาแก่เจ้าหนี้นั้น เห็นว่า หนี้ที่ขอรับชำระมีที่ดินเป็นวัตถุแห่งหนี้มิใช่เป็นหนี้เงินแม้จะมีคำขอว่า “หรือให้ใช้ราคาที่ดิน”กำกับอยู่ คำขอดังกล่าวก็เป็นเพียงคำขอสำรอง สำหรับใช้เป็นสภาพบังคับในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ได้เท่านั้น คำขอให้ใช้ราคาที่ดินในที่นี้จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำขอรับชำระหนี้ในลักษณะที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั่นเอง ซึ่งตามกฎหมายหนี้ที่จะขอรับชำระได้ในคดีล้มละลายจะต้องเป็นหนี้เงินเท่านั้น ซึ่งถ้ามีดอกเบี้ยรวมอยู่ด้วยก็คิดดอกเบี้ยได้ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในลักษณะขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือใช้ราคาแก่เจ้าหนี้ เช่นนั้น จึงไม่มีสิทธิที่จะทำได้แต่เจ้าหนี้ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ดำเนินการเพื่อบังคับตามสิทธิของตนเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากได้ซึ่งปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ดำเนินการไปแล้วเป็นสาขาคดีอีกสาขาหนึ่งต่างหาก ดังปรากฏตามคดีหมายเลขดำที่ ล.๖๕/๒๕๓๓ ของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า หากเจ้าหนี้ไถ่ถอนจำนองที่พิพาทเป็นเงินจำนวนเท่าใด ก็ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๑ เป็นเงินจำนวนเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๐(๘) ส่วนคำขอรับชำระหนี้ที่ขอให้โอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้เจ้าหนี้หรือให้ใช้ราคาพร้อมด้วยดอกเบี้ยนั้นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share