คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 836/2467

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดิน ใบเหยียบย่ำอำนาจตัดต้นไม้

ย่อยาว

พ.ได้รับใบเหยียบย่ำที่ดินแปลงหนึ่ง ต่อมาสมุหเทศาภิบาลได้ประกาศบอกประเภทไม้หวงห้ามในท้องที่ที่จำเลยได้รับใบเหยียบย่ำนั้น อำเภอได้ส่งประกาศนั้นไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้านเท่านั้น ไม่ได้จัดการอย่างใดให้ราษฎรมีโอกาศทราบได้ เช่นปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผยหรือมีการป่าวร้องเปนต้น พ. ได้ตัดไม้ประเภทหวงห้ามในที่ดินซึ่งตนได้รับใบเหยียบย่ำนั้น โจทย์ฟ้องขอให้ลงโทษ
ศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ ตัดสินว่า โจทย์นำสืบไม่ได้ว่าได้ปิดประกาศบอกประเภทไม้หวงห้ามโดยเปิดเผยให้คนทั้งหลายทราบ แลที่ ๆ จำเลยตัดไม้นี้ เจ้าพนักงานได้ออกใบเหยียบย่ำให้แก่จำเลยแล้วแม้จะปรากฎว่าเปนที่หวงห้ามก็ดี ก็ไม่ลบล้างอำนาจของจำเลย ให้ยกฟ้องโจทย์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความประสงค์แห่งข้อบังคับวางระเบียบวิธีจัดการรักษาป่า พ.ศ. ๒๔๕๖ ข้อ ๒ นั้น คือไม้ประเภทใดที่หวงห้ามต้องมีประกาศแลโฆษนาให้ราษฎรทราบก่อน ข้อเท็จจริงในคดีนี้ยังฟังไม่ได้ว่าได้มีการโฆษนาแล้วตามความในข้อบังคับนั้น
ส่วนข้อที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีใบเหยียบย่ำในที่รายนี้ย่อมมีอำนาจตัดไม้ได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะใบเหยียบย่ำเปนแต่หนังสือเบื้องต้นที่แสดงว่าผู้ถือได้ขออนุญาตจับจองเท่านั้นหาใช่ให้มีกรรมสิทธิอันแท้จริงอย่างโฉนดไม่ (ดูพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๖๒ ประกอบกับพระราชบัญญัติรักษาป่า พ.ศ. ๒๔๕๖ มาตรา ๓ ข้อ ๒ แลมาตรา ๔ ) ด้วยเหตุนี้การที่จำเลยถือแต่ใบเหยียบย่ำเท่านั้นไม่ทำให้จำเลยมีอำนาจตัดไม้ประเภทหวงห้ามได้ แต่เรื่องนี้ยังไม่ปรากฎว่าได้มีการประกาศโฆษนา จำเลยจึงยังไม่มีผิด ให้ยกฟ้องโจทย์

Share