คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2457/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ส. พยานโจทก์เบิกความว่า พยานพบกับผู้เสียหาย ผู้เสียหายบอกว่าจำเลยลักสร้อยคอทองคำและพระเลี่ยมทองของผู้เสียหายไป ขอให้พยานช่วยทวงคืนให้พยานไปหาจำเลยและสอบถาม จำเลยรับว่าได้นำสิ่งของของผู้เสียหายไปจำนำไว้ เช้าวันรุ่งขึ้นพยานสอบถามจำเลยอีก จำเลยบอกว่าตั๋วจำนำอยู่ที่เพื่อน ประกอบกับ ช. และ น. พยานโจทก์อีกสองปากเบิกความตรงกันว่า ตอนเช้าวันที่ผู้เสียหายทราบว่าทรัพย์ของตนถูกลักไป จำเลยนำสร้อยคอและพระเลี่ยมทองของผู้เสียหายมาให้พยานทั้งสองดู และบอกว่าเก็บได้จากห้องน้ำหลังบ้าน พยานทั้งสองเป็นญาติสนิทกับผู้เสียหายและจำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน กับทั้งไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนจึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหาย นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับ ง. และ ว. พยานอีกสองปากที่เบิกความว่าจำเลยเคยเล่าให้ฟังว่าเก็บสร้อยคอและพระเลี่ยมทองของผู้เสียหายได้ แต่ยังไม่คืนให้เพราะจะแกล้งผู้เสียหาย หากจำเลยไม่ได้ลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป จำเลยก็น่าจะปฏิเสธกับ ส. ตั้งแต่แรก แต่จำเลยกลับรับว่าเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปจำนำไว้ แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันการกระทำผิดของจำเลย มีเพียงแต่พยานแวดล้อม แต่พยานโจทก์ทุกปากเบิกความไม่มีข้อพิรุธน่าสงสัย ทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนล่าช้าก็คงเป็นเพราะผู้เสียหายเป็นญาติสนิทกับจำเลย ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยหากได้ทรัพย์ที่ถูกลักไปคืน หาเป็นข้อพิรุธแต่อย่างใดไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยลักทรัพย์ผู้เสียหายตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักสร้อยคอทองคำ 1 เส้น พระเลี่ยมทอง 1 องค์ รวมเป็นเงิน 23,000 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวนดังกล่าว ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (ที่ถูกมาตรา 335 (1) วรรคแรก) จำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 23,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2545 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา ผู้เสียหายเข้าไปอาบน้ำในห้องน้ำหลังบ้านที่ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่แล้วถอดสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท 1 เส้น กับพระเลี่ยมทอง 1 องค์ รวมราคา 23,000 บาท แขวนไว้ที่ผนังห้องน้ำ เช้าวันรุ่งขึ้นผู้เสียหายกลับมาดูไม่พบสร้อยคอและพระเลี่ยมทองที่ลืมไว้ ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายจริงหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 22 นาฬิกา พยานเข้าไปอาบน้ำในห้องน้ำหลังบ้านพัก ก่อนอ่านน้ำได้ถอดสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท และพระเลี่ยมทอง 1 องค์ แขวนไว้ที่ผนังห้องน้ำอาบน้ำเสร็จก็ออกไปเฝ้าบ่อกุ้ง ส่วนสร้อยคอทองคำไม่เอาติดตัวไปด้วย แต่จะกลับมาเอาวันรุ่งขึ้น เช้าวันรุ่งขึ้นพยานกลับมาที่ห้องน้ำแต่ไม่พบสร้อยคอทองคำที่แขวนทิ้งไว้ สอบถามนายแชวง จรัลพงษ์ ญาติที่พักอาศัยอยู่ด้วยกันทราบว่า วันเกิดเหตุมีนายแชวงกับจำเลยอยู่ที่บ้าน พยานไปสอบถามจำเลยที่ห้องนอน จำเลยบอกว่าไม่มี ต่อมาพยานจึงให้นายสำราญ จรัลพงษ์ อาของพยานไปสอบถามจำเลย นายสำราญบอกว่าจำเลยรับว่านำสร้อยคอทองคำและพระเลี่ยมทองของพยานไปจำนำไว้ นายสำราญบอกให้จำเลยนำตั๋วจำนำมาให้เพื่อไปไถ่คืน แต่จำเลยไม่นำมาให้และย้ายออกจากบ้านไป ต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2545 พยานจึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน นอกจากนี้โจทก์มีนายแชวง จรัลพงษ์ และนางนาตยา จรัลพงษ์ เบิกความว่าพยานทั้งสองเป็นสามีภรรยากันและพักอยู่บ้านเดียวกับผู้เสียหายและจำเลย เช้าวันที่ 3 มกราคม 2545 หลังจากพยานทั้งสองตื่นนอนเดินผ่านห้องจำเลยที่อยู่ติดกันได้พบกับจำเลย จำเลยนำสร้อยคอทองคำและพระเลี่ยมทองมาให้พยานทั้งสองดูและบอกว่าเป็นของผู้เสียหายที่ลืมไว้ในห้องน้ำหลังบ้าน และมีนายสังข์ นิยมบุตร กับนายเชาวลิตร อ่ำอยู่ คนงานที่บ่อกุ้ง เบิกความว่า จำเลยเคยบอกว่าเก็บสร้อยคอและพระเลี่ยมทองของผู้เสียหายได้ ส่วนนายสำราญ จรัลพงษ์ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2545 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา พยานพบกับผู้เสียหาย ผู้เสียหายบอกว่าจำเลยลักสร้อยคอทองคำและพระเลี่ยมทองของผู้เสียหายไป ขอให้พยานช่วยทวงคืนให้ พยานไปหาจำเลยที่ห้องนอนและสอบถามแล้ว จำเลยรับว่าได้นำสิ่งของของผู้เสียหายไปจำนำไว้ เช้าวันรุ่งขึ้นพยานสอบถามจำเลยอีกจำเลยบอกว่าตั๋วจำนำอยู่ที่เพื่อน พยานบอกให้จำเลยไปเอาตั๋วจำนำมาให้ จำเลยจึงขนของออกจากบ้านไปพักอาศัยที่อื่น พยานจึงแนะนำให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เห็นว่า โจทก์มีนายแชวงและนางนาตยาที่เบิกความตรงกันว่าตอนเช้าวันที่ผู้เสียหายทราบว่าทรัพย์ของตนถูกลักไป จำเลยนำสร้อยคอและพระเลี่ยมทองของผู้เสียหายมาให้พยานทั้งสองดู และบอกว่าเก็บได้จากห้องน้ำหลังบ้านพยานทั้งสองเป็นญาติสนิทกับผู้เสียหายและจำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน กับทั้งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย เชื่อว่าพยานทั้งสองเบิกความตามจริงที่รู้เห็นมา ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายว่า เมื่อสอบถามนายแชวงแล้วก็ไปสอบถามจำเลยทันที นอกจากนี้นายสังข์ นิยมบุตร และนายเชาวลิตร อ่ำอยู่ เพื่อนผู้เสียหายที่ทำงานเป็นคนงานในบ่อกุ้งก็เบิกความว่า จำเลยเคยเล่าให้ฟังว่าเก็บสร้อยคอและพระเสี่ยมทองของผู้เสียหายได้แต่ยังไม่คืนให้เพราะจะแกล้งผู้เสียหาย คำพยานทั้งสองปากนี้สอดคล้องกับคำเบิกความของนายแชวงและนางนาตยา ทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ โจทก์ยังมีนายสำราญซึ่งเป็นอาของผู้เสียหายและเป็นน้าของจำเลยเบิกความประกอบอีกว่าเมื่อจำเลยไม่ยอมคืนสร้อยคอและพระเลี่ยมทองให้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายขอให้พยานทวงคืนจากจำเลย พยานสอบถามแล้วจำเลยบอกว่าเอาสร้อยคอและพระเลี่ยมทองของผู้เสียหายไปจำนำไว้ พยานบอกให้จำเลยเอาตั๋วจำนำมาคืนให้จำเลยก็บอกว่าอยู่ที่เพื่อน หากจำเลยไม่ได้ลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป จำเลยก็น่าจะปฏิเสธกับนายสำราญตั้งแต่แรก แต่จำเลยกลับยอมรับว่าเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปจำนำไว้ แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันการกระทำผิดของจำเลย มีเพียงแต่พยานแวดล้อม แต่พยานโจทก์ทุกปากก็เบิกความไม่มีข้อพิรุธน่าสงสัย ทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนล่าช้าหลังจากเกิดเหตุนานเกือบ 4 เดือน ก็คงเป็นเพราะผู้เสียหายเป็นญาติสนิทกับจำเลย ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยหากได้ทรัพย์ที่ถูกลักไปคืน หาเป็นข้อพิรุธแต่อย่างใดไม่ จำเลยเบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียว ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยลักสร้อยคอและพระเลี่ยมทองของผู้เสียหายตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share