แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
นับแต่เวลาที่จำเลยที่ 5 เข้าแย่งมีดจากผู้ตาย จนกระทั่งผู้ตายถูกจำเลยที่ 6 ใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายไม่ปรากฏว่ามีผู้อื่นเข้าทำร้ายผู้ตายอีก บาดแผลของผู้ตายที่เกิดจากการถูกแทงด้วยของมีคมจึงต้องเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 5 ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ที่ระบุว่าจำเลยที่ 5 เป็นคนใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายก่อนที่จำเลยที่ 6 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงได้รีบพากันหลบหนีไปด้วยกันโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ ทำให้เชื่อได้ว่าเหตุการณ์เป็นไปตามคำให้การของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในชั้นสอบสวน ซึ่งให้การหลังเกิดเหตุเพียง 2 วัน ยิ่งกว่าจะเป็นไปตามคำเบิกความหลังเกิดเหตุนานถึง 3 ปี การที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายและใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตายแล้วรีบพากันหลบหนีไปด้วยกัน แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 มีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 6 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่า ร่วมกันว่าจ้างจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้ฆ่าผู้ตาย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไปฆ่าผู้ตาย โจทก์คงมีเพียงบันทึกคำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ที่ให้การรับสารภาพว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 รับจ้างจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้ไปฆ่าผู้ตาย ซึ่งเป็นพยานบอกเล่ามีน้ำหนักรับฟังน้อย และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นรับฟังประกอบบันทึกคำให้การดังกล่าวกรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้รับจ้างจากผู้อื่นให้ไปฆ่าผู้ตายและพยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 เตรียมวางแผนฆ่าผู้ตายไว้ล่วงหน้าอันจะเป็นการกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อน การกระทำของจำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงเป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 เท่านั้น
ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 รู้มาก่อนว่าจำเลยที่ 6 พาอาวุธปืนติดตัวมาด้วยและจะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย จำเลยที่ 6 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า จำเลยที่ 5 เพียงแต่ร่วมฆ่าผู้ตายโดยใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายอันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฉับพฉันนั้นเอง ส่วนการที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 หลบหนีไปด้วยกัน ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 มีส่วนร่วมกับการมีและพาอาวุธปืนของจำเลยที่ 6 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 84, 91, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 6 ให้การรับสารภาพฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืน ส่วนฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยที่ 6 ให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกันและเหตุบันดาลโทสะ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 7 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 7 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 371 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ประหารชีวิตฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธาณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 และที่ 6 และจำเลยที่ 6 ให้การรับสารภาพฐานมีและพาอาวุธปืน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลดโทษให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 5 และที่ 6 คนละตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและร่วมกันพาอาวุธปืน ลดโทษให้จำเลยที่ 5 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 5 กระทงละ 4 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 6 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 6 กระทงละ 3 เดือน เมื่อจำคุกจำเลยที่ 5 และที่ 6 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนคนละตลอดชีวิตแล้ว ก็ไม่อาจนำโทษในคดีอื่น (ที่ถูก ความผิดฐานอื่น) มารวมได้อีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) คงจำคุกจำเลยที่ 5 และที่ 6 คนละตลอดชีวิต ริบของกลาง ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4
จำเลยที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 15 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 7 ปี 6 เดือน รวมกับโทษในความผิดฐานอื่นแล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 6 มีกำหนด 7 ปี 12 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้ว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ขณะที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 กับนายบุญรัตน์ คำเมือง ผู้ตายดื่มสุราอยู่ด้วยกัน จำเลยที่ 6 ได้ใช้อาวุธปืนพกของกลางยิงฆ่าผู้ตายถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 5 และที่ 6 ขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปด้วยกัน เจ้าพนักงานตำรวจยึดมีดปลายแหลม 1 เล่ม จากที่เกิดเหตุเป็นของกลาง ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้พร้อมยึดอาวุธปืนที่จำเลยที่ 6 ใช้ยิงผู้ตายเป็นของกลาง สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 6 ในความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุปืน จำเลยที่ 6 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 6 ในความผิดดังกล่าว จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าจำเลยที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 6 ฆ่าผู้ตายหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทเชาวฤกษ์ ศรีประยูร พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า พยานได้ร่วมกับแพทย์ชันสูตรพลิกศพผู้ตาย และได้ทำรายงานการตรวจชันสูตรพลิกศพผู้ตายไว้ในชั้นสอบสวนพยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ว่า ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาซึ่งจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้การว่า ขณะที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 นั่งดื่มสุราอยู่กับผู้ตายในบ้านผู้ตาย จำเลยที่ 5 ได้แกล้งชวนผู้ตายลุกขึ้นดูภาพถ่ายที่ติดอยู่ข้างฝาผนังจากนั้นจำเลยที่ 6 บอกให้ผู้ตายไปเปิดโทรทัศน์ ขณะผู้ตายเดินไปเปิดโทรทัศน์จำเลยที่ 6 ได้ชักอาวุธปืนที่พกติดตัวไปออกมายิงผู้ตาย 2 นัด ผู้ตายได้ชักมีดปลายแหลมออกมาพุ่งเข้าหาจำเลยที่ 6 จำเลยที่ 5 จึงเข้าแย่งมีดจากผู้ตายทำให้จำเลยที่ 5 ถูกคมมีดบาดที่ฝ่ามือข้างขวา เมื่อจำเลยที่ 5 แย่งมีดจากผู้ตายได้แล้วก็ใช้มีดแทงไปที่ผู้ตาย ผู้ตายวิ่งหนีลงบันไดบ้าน จำเลยที่ 6 จึงได้ใช้อาวุธปืนยิงไปยังผู้ตายอีก 1 นัด ทำให้ผู้ตายล้มลงที่พื้น จำเลยที่ 6 ยิงผู้ตายซ้ำอีก 1 นัดและใช้ด้ามปืนตีที่ใบหน้าของผู้ตาย 2 ครั้ง จากนั้นจำเลยที่ 5 และที่ 6 ขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปด้วยกัน โดยจำเลยที่ 5 ลืมใส่รองเท้าผ้าใบสีดำยี่ห้อแพนที่ถอดไว้ที่หน้าบ้านของจำเลยที่ 1 กลับไปด้วย แต่จำเลยที่ 5 นำสืบปฏิเสธว่า เหตุที่จำเลยที่ 6 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเนื่องจากในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 5 และที่ 6 ไปดื่มสุราที่บ้านจำเลยที่ 1 และพูดคุยกันถึงเรื่องของผู้ตายที่ชอบลักขโมยสิ่งของผู้อื่น มีนิสัยเกเร ติดยาเสพติดให้โทษและทำร้ายบิดามารดา จำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไปช่วยว่ากล่าวตักเตือนผู้ตาย แล้วทั้งสามคนจึงพากันไปที่บ้านผู้ตาย พบผู้ตายกำสังนั่งดื่มสุราอยู่จึงร่วมดื่มสุรากับผู้ตาย ระหว่างดื่มสุราอยู่ด้วยกัน จำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้ว่ากล่าวตักเตือนผู้ตายเกี่ยวกับเรื่องลักขโมยสิ่งของของผู้อื่น และเรื่องทำร้ายมารดา ผู้ตายตอบว่าไม่ใช่พ่อไม่ต้องมาสอน จากนั้นผู้ตายได้เดินเข้าไปหยิบมีดปลายแหลมในครัวแล้วเดินมาจะแทงทำร้ายจำเลยที่ 6 จำเลยที่ 5 ตรงเข้าแย่งมีดจากผู้ตาย ทำให้มีดหักและคมมีดบาดมือจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5 จึงวิ่งหนีลงจากบ้าน จำเลยที่ 6 เห็นดังนั้นจึงได้ชักอาวุธปืนออกมายิงผู้ตาย ผู้ตายวิ่งลงมาล้มลงนอนตายอยู่ชั้นล่างหลังจากนั้นจำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้พากันกลับบ้าน วันรุ่งขึ้น เวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพผู้ตายซึ่งจำเลยที่ 5 แถลงยอมรับว่า คดีนี้ได้มีการจัดทำรายงานการชันสูตรพลิกศพไว้ตามเอกสารดังกล่าวจริง ปรากฏว่าแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตายระบุถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายว่า ถูกอาวุธปืนยิงและถูกของมีคมแทงโดยผู้ตายมีบาดแผลฉีกขาดขอบเรียบ 6 แผล คือ ที่ใบหน้าหูซ้าย ใบหน้าหูขวา โหนกแก้มซ้าย หน้าผากเหนือคิ้วขวา และบริเวณกลางหลัง 2 แผล ห่างกัน 7 เซนติเมตร มีบาดแผลกลมคล้ายรอยกระสุนปืนบริเวณหัวไหล่ซ้าย มีหัวกระสุนปืนฝังอยู่ บาดแผลคล้ายรอยกระสุนปืน 2 แผล บริเวณต้นแขนขวาด้านหน้าและด้านหลังทะลุถึงกัน บาดแผลคล้ายรอยกระสุนปืน 2 แผล บริเวณสะโพกขวาด้านหน้าและด้านข้างทะลุถึงกัน จากบาดแผลดังกล่าวเชื่อได้ว่าผู้ตายถูกยิงด้วยอาวุธปืน มีกระสุนปืนเข้า 3 นัด ถูกแทงด้วยมีดหลายครั้งจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่จำเลยที่ 5 ต่อสู้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 5 เข้าแย่งมีดกับผู้ตายจนมีดหัก คมมีดบาดมือจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 5 ได้วิ่งหนีลงจากบ้านมาได้ประมาณ 10 เมตร หลังจากนั้นจำเลยที่ 6 ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตายโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ใช้มีดแทงผู้ตายแต่ประการใดนั้น เห็นว่า นับแต่เวลาที่จำเลยที่ 5 เข้าแย่งมีดจากผู้ตายจนกระทั่งผู้ตายถูกจำเลยที่ 6 ใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายไม่ปรากฏว่ามีผู้อื่นเข้าทำร้ายผู้ตายอีก บาดแผลของผู้ตายที่เกิดจากการถูกแทงด้วยของมีคมจึงต้องเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 5 ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาที่ระบุว่าจำเลยที่ 5 เป็นคนใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายก่อนที่จำเลยที่ 6 จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตายหลังจากนั้นจำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงได้รีบพากันหลบหนีไปด้วยกันโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ ทำให้เชื่อได้ว่าเหตุการณ์เป็นไปตามคำให้การของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในชั้นสอบสวน ซึ่งให้การหลังเกิดเหตุเพียง 2 วัน ยิ่งกว่าจะเป็นไปตามคำเบิกความในชั้นพิจารณาซึ่งเบิกความหลังเกิดเหตุนานถึง 3 ปี การที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายและใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตายแล้วรีบพากันหลบหนีไปด้วยกันแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 มีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 6 กระทำความผิดดังกล่าว ข้อต่อสู้และพยานหลักฐานของจำเลยที่ 5 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 6 ฆ่าผู้ตายจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 5 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า การกระทำของจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นการฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่า ร่วมกันว่าจ้างจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้ฆ่าผู้ตาย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไปฆ่าผู้ตาย โจทก์คงมีเพียงบันทึกคำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ที่ให้การรับสารภาพว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 รับจ้างจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้ไปฆ่าผู้ตาย ซึ่งเป็นพยานบอกเล่ามีน้ำหนักรับฟังน้อย และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นรับฟังประกอบบันทึกคำให้การดังกล่าว กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้รับจ้างจากผู้อื่นให้ไปฆ่าผู้ตาย และพยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 เตรียมวางแผนฆ่าผู้ตายไว้ล่วงหน้าอันจะเป็นการกระทำความผิดโดยไตร่ตรองไว้ก่อน การกระทำของจำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงเป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 เท่านั้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 6 กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 รู้มาก่อนว่าจำเลยที่ 6 พกอาวุธปืนติดตัวมาด้วยและจะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย จำเลยที่ 6 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า จำเลยที่ 5 เพียงแต่ร่วมฆ่าผู้ตายโดยใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายอันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฉับพลันนั้นเอง ส่วนการที่จำเลยที่ 5 และที่ 6 หลบหนีไปด้วยกัน ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 มีส่วนร่วมกับการมีและพาอาวุธปืนของจำเลยที่ 6 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 5 ในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 15 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยที่ 5 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5