แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกำหนดราคาเบื้องต้นและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์จำนวน 1,797,750บาท ไม่เป็นธรรม เพราะโจทก์รับซื้อฝากมาราคา4,287,500 บาท เงินค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่โจทก์เจ้าหน้าที่เวนคืนของจำเลยกำหนดราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินในการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ดังนี้ ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้กล่าวอ้างว่าจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ด้วยแล้ว ซึ่งศาลก็ได้กำหนดเป็นประเด็นในคดีว่าจำเลยกำหนดค่าทดแทนเป็นธรรมหรือไม่ แต่เนื่องจากไม่ปรากฏราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน ศาลล่างทั้งสองจึงกำหนดเงินค่าทดแทนตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทำนองเดียวกับที่คณะกรรมการฯใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนเพียงแต่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพียง 50 เปอร์เซนต์ของราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไม่เป็นธรรม จึงได้กำหนดให้เพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละ 1,200 บาท ซึ่งไม่สูงกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ทั้งนี้โดยคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของที่พิพาท เหตุและวัตถุประสงค์ในการเวนคืนแล้วเป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ชอบด้วยมาตรา 21 แล้วศาลล่างทั้งสองหาได้พิพากษานอกประเด็นหรือแก้ไขหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนตามกฎหมายดังที่จำเลยฎีกาทั้งตามมาตรา 25 และ 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ก็บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนฯ และให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาล โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนี้ในเวลาที่ต่างกันอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคสาม ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราคงที่เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจึงไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 83616, 83617 และ 83618 เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน97 ตารางวา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2531 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอนเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 ประกาศใช้บังคับโดยกำหนดให้จำเลยซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนและเป็นผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ต่อมาวันที่ 8 เมษายน2534 เจ้าหน้าที่เวนคืนของจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงที่ถูกเวนคืนเป็นเงิน 1,797,750 บาท โจทก์เห็นว่า เงินค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เพราะเจ้าหน้าที่เวนคืนของจำเลยกำหนดราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินในการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 นอกจากนี้ การกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์จะต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ดินในขณะที่โจทก์ได้ที่ดินนั้นมา ตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพราะโจทก์ได้ที่ดินทั้งสามแปลงมาโดยมิได้ใช้อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพ หรือทำประโยชน์ในที่ดินนั้นอย่างแท้จริง และได้มีการเวนคืนที่ดินนั้นภายในห้าปีนับแต่วันที่โจทก์ได้ที่ดินมาโดยการรับซื้อฝากเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2529ราคา 4,287,500 บาท ต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2534 จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าทดแทนให้โจทก์อีกเป็นเงิน 2,489,750 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มเติมคือวันที่ 19 สิงหาคม 2534 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 9 เดือน เป็นดอกเบี้ยทั้งสิ้น 233,414.06 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 2,723,164.06 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน2,723,164.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 2,489,750 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จะนำเอาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 22มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะสภาพที่ดินของโจทก์มีการทำประโยชน์โดยขุดหน้าดินขายภายหลังจากที่พ้นกำหนดเวลาไถ่ที่ดินของเจ้าของเดิมและขุดลึกกว่า 2 เมตร ราคาที่ดินที่ขายฝากคือสินไถ่มิใช่ราคาซื้อขายกันตามปกติในขณะที่พระราชกฤษฎีกาออกใช้บังคับราคาตามสัญญาขายฝากทำขึ้นโดยสมยอมกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อบังคับใช้ค่าทดแทนราคาที่เป็นสินไถ่ดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,078,650 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 83616, 83617 และ 83618เนื้อที่รวม 5 ไร่ 3 งาน 97 ตารางวา โดยนายจำลอง มะณีสุทธิ์ได้ทำหนังสือสัญญาขายฝากและจดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ให้แก่โจทก์ในราคา 4,728,500 บาทเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2529 มีกำหนดไถ่คืนภายใน 1 ปี ครั้นวันที่23 พฤษภาคม 2531 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2531 เพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครโดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงอยู่ในบริเวณที่ที่จะถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้พิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531-2534 ซึ่งกำหนดไว้ราคาตารางวาละ 1,500 บาท แต่เนื่องจากสภาพที่ดินของโจทก์เป็นบ่อจึงกำหนดให้เพียง 50 เปอร์เซนต์ เป็นเงิน 1,797,750 บาทโจทก์ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอค่าทดแทนที่ดินเพิ่มและรับเงิน 1,797,750 บาท ไปจากจำเลยแล้ว พ้นกำหนด60 วันแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้น โจทก์จึงฟ้องคดี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์และจำเลยฎีกาว่า โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพียงใด เห็นว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอนเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2531 การกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้นถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้วให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม”
และมาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่เจ้าของได้ที่ดินใดมาโดยมิได้ใช้อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพหรือทำประโยชน์ในที่ดินนั้นอย่างแท้จริง ถ้าหากมีการเวนคืนที่ดินนั้นภายในห้าปี นับแต่วันที่เจ้าของได้ที่ดินนั้นมาจะกำหนดเงินค่าทดแทนให้ต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่กำหนดตามมาตรา 21 ก็ได้แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ดินในขณะที่เจ้าของได้ที่ดินนั้นมา”ที่โจทก์ฎีกาว่าที่ดินของโจทก์ควรได้รับค่าทดแทนตามเงื่อนไขในมาตรา 22 นั้น ศาลฎีกาเชื่อว่าราคาที่ดินที่ตกลงกันในหนังสือสัญญาขายฝากหาใช่ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดไม่เมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่าที่ดินของโจทก์มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดเท่าใด ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าราคาที่ขายฝากจำนวน4,287,500 บาท เป็นราคาที่ดินในขณะที่โจทก์ได้ที่ดินทั้งสามแปลงมาจำเลยนำสืบว่า สภาพที่ดินของโจทก์เป็นบ่อลึกบางแห่งลึกถึง23 เมตร อยู่ติดสวนหลวงรัชกาลที่ 9 ทางทิศเหนือ ไม่มีถนนเข้าถึงห่างถนนสุขุมวิทซอย 103 ประมาณครึ่งกิโลเมตร ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์จำนวน 1,078,750 บาท นั้นเป็นราคาที่ไม่น้อยกว่าราคาที่ดินในขณะที่โจทก์ได้ที่ดินทั้งสามแปลงมา ชอบด้วยมาตรา 22 และได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 แล้ว จึงชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมโดยส่วนรวมแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์กล่าวอ้างราคาขายฝากมาเป็นประเด็นเรียกร้องค่าทดแทนเพิ่มโดยโจทก์อ้างว่าศาลจะต้องกำหนดเงินเพิ่มให้เพราะเป็นไปตามเงื่อนไขในมาตรา 22 ศาลย่อมไม่มีอำนาจนำเอาหลักเกณฑ์ที่ศาลเห็นว่าเหมาะสมมากำหนด ศาลไม่มีอำนาจกำหนดเงินค่าทดแทนเพราะมิใช่ประเด็นในคดี ไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยชำระค่าทดแทนและศาลใช้อำนาจเข้าไปก้าวก่ายดุลพินิจของฝ่ายบริหารโดยแก้ไขหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ถูกต้องนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกำหนดราคาเบื้องต้นและจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์จำนวน 1,797,750 บาท ไม่เป็นธรรม เพราะโจทก์รับซื้อฝากมาราคา 4,287,500 บาท เงินค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เพราะเจ้าหน้าที่เวนคืนของจำเลยกำหนดราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินในการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เห็นว่า ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้กล่าวอ้างว่าจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ด้วย ซึ่งศาลก็ได้กำหนดเป็นประเด็นในคดีว่า จำเลยกำหนดค่าทดแทนเป็นธรรมหรือไม่ แต่เนื่องจากคดีนี้ไม่ปรากฏราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน ศาลล่างทั้งสองจึงกำหนดเงินค่าทดแทนตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทำนองเดียวกับที่คณะกรรมการฯใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทน เพียงแต่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่า การกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพียง 50 เปอร์เซนต์(ตารางวาละ 750 บาท) ของราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไม่เป็นธรรมจึงได้กำหนดให้เพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละ 1,200 บาท ซึ่งไม่สูงกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ทั้งนี้โดยได้คำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของที่พิพาท เหตุและวัตถุประสงค์ในการเวนคืนแล้วเป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ชอบด้วยมาตรา 21 แล้วศาลล่างทั้งสองหาได้พิพากษานอกประเด็นหรือแก้ไขหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนตามกฎหมายดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดทั้งตามมาตรา 25 และ 26 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ก็บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนฯและให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยตามคำพิพากษาของศาลทั้งสองนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า”ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น” ดังนั้นเมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวข้างต้นโจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นซึ่งอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนี้ในเวลาที่ต่างกันอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี คงที่นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจึงไม่ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่จำเลยต้องชำระเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2534เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์