คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5614/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 เมื่อลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ย่อมหมดอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นในชั้นพิจารณาหรือชั้นบังคับคดี เนื่องจากกฎหมายบัญญัติให้อำนาจดังกล่าวตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว การที่จำเลยซึ่งถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์สินของตนในคดีนี้ ถือได้ว่าเป็นการต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินอย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22(3) จำเลยหามีอำนาจที่จะร้องคัดค้านการขายทอดตลาดเข้ามาด้วยตนเองไม่.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จากตามคำพิพากษาตามยอม ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๓๐ ศาลแพ่งธนบุรีได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ ๓ เด็ดขาดครั้นวันที่ ๑๗กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ ๓ ให้โจทก์ จำเลยที่ ๓จึงยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ ว่า การขายทอดตลาดครั้งนี้เป็นไปโดยมิชอบ ขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินรายนี้ใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อจำเลยที่ ๓ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิที่จะจัดการทรัพย์สินของตน เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเข้าดำเนินการแทนจึงให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ ๓ เพียงข้อเดียวว่า เมื่อจำเลยที่ ๓ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วจำเลยที่ ๓ จะมีอำนาจร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๓ ในคดีนี้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๒๒ บัญญัติว่า “เมื่อศาลพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป
(๒) เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินที่จะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น
(๓) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้
จากบทกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ว่า เมื่อลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ย่อมหมดอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นในชั้นพิจารณาหรือชั้นบังคับคดี เนื่องจากกฎหมายบัญญัติให้อำนาจดังกล่าวตกเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว การที่จำเลยที่ ๓ ร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์สินของตนในคดีนี้ถือได้ว่าเป็นการต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินอย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓มาตรา ๒๒(๓) ซึ่งตกเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวแล้ว จำเลยที่ ๓ หามีอำนาจที่จะร้องคัดค้านการขายทอดตลาดเข้ามาด้วยตนเองไม่
พิพากษายืน.

Share