คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5017/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขับรถมีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารประจำทางรับส่งผู้โดยสาร จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างโดยขับรถด้วยความประมาททำให้รถของโจทก์รถของบุคคลอื่นเสียหายและ ทำให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่รถของโจทก์ถูกเฉี่ยวชนและชดใช้เงินที่โจทก์ใช้เป็นค่าเสียหายแก่บุคคล อื่นให้แก่โจทก์ ตามคำฟ้องดังกล่าวนอกจากจะเป็นฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดเนื่องจากกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้รถของโจทก์เสียหายแล้วยังเป็นฟ้องที่อ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง เป็นการทำผิดหน้าที่ที่จำเลยจะต้องกระทำตามสัญญาจ้างแรงงาน อันเป็นฟ้องที่ขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองประการแม้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานที่มีอายุความ 10 ปีแต่เงินค่าซ่อมรถของโจทก์ที่โจทก์เสียไปถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์อาจเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ได้นับแต่วันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นวันที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่นั้น ไม่ใช่นับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถให้แก่ผู้รับจ้างซ่อม เมื่อนับแต่วันเกิดเหตุถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยขับรถยนต์โดยสารประจำทางของโจทก์โดยประมาทเฉี่ยวชน ได้รับความเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีเกิน ๑๐ ปี นับแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าซ่อมรถของโจทก์ และค่าเสียหายที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้อื่นซึ่งได้รับความเสียหาย เนื่องจากจำเลยขับรถโดยประมาทมีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้ค่าซ่อมรถ และค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอก เมื่อนับถึงวันฟ้องเกิน ๑๐ ปี จึงขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า ฟ้องของโจทก์ที่เรียกร้องค่าซ่อมรถเป็นค่าเสียหายจากการที่รถของโจทก์ถูกชนเสียหายเป็นฟ้องที่ขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานเนื่องจากจำเลยขับรถโดยประมาททำให้เกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุให้รถของโจทก์เสียหายเป็นการทำผิด หน้าที่อันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานมิใช่เป็นการฟ้องในเรื่องละเมิด จะใช้อายุความ ๑ ปี ดังที่ศาลแรงงานกลางวิจัยหาได้ไม่ อายุความใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีกำหนด ๑๐ ปี ที่รถของโจทก์เสียหายโจทก์จ่ายค่าซ่อมรถให้แก่บริษัทสวีเดนขนส่ง จำกัด ผู้รับจ้างซ่อม เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๓๓ซึ่งถือว่าเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องจากจำเลยอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๒๓ เป็นต้นไปเมื่อนับถึงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๓๓ ซึ่งเป็นวันฟ้อง ฟ้องโจทก์ที่เรียกค่าเสียหายส่วนนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กำหนดอายุความตามกฎหมายนั้นให้นับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขับรถ มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารประจำทางรับส่งผู้โดยสาร จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างโดยขับรถด้วยความประมาททำให้รถของโจทก์ รถของบุคคลอื่นเสียหายและทำให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่รถของโจทก์ถูกเฉี่ยวชน และชดใช้เงินที่โจทก์ใช้เป็นค่าเสียหายแก่บุคคลอื่นแก่โจทก์ ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวที่เกี่ยวกับการที่จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถของโจทก์เสียหายนั้น นอกจากเป็นฟ้องที่ทำให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดเนื่องจากกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้วยังเป็นฟ้องที่อ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องเป็นการทำผิดหน้าที่ที่จำเลยจะต้องกระทำตามสัญญาจ้างแรงงานอันเป็นฟ้องที่ขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองประการแม้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งมีกำหนดอายุความ๑๐ ปี แต่เงินค่าซ่อมรถของโจทก์ที่เสียหายที่โจทก์เสียไปนั้นถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานโจทก์อาจเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ได้นับแต่วันเกิดเหตุคือวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นวันที่ก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่นั้น มิใช่นับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถให้แก่ผู้รับจ้างซ่อม ดังที่โจทก์อุทธรณ์ เมื่อนับแต่วันเกิดเหตุคือวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๒ อันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้จนถึงวันฟ้องก็เป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปี เป็นอันขาดอายุความแล้ว
พิพากษายืน

Share