คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3109/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยขีดฆ่าและลบลายมือชื่อของจำเลยในเช็คพิพาททั้งห้าฉบับ เพื่อที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลังในเช็คแต่ละฉบับนั้น แม้จะเป็นการกระทำในเวลาใกล้เคียงและต่อเนื่องกันแต่ ก็เห็นได้ชัดว่าจำเลยจะทำเพียงฉบับเดียวหรือบางฉบับก็ได้สุดแต่เจตนาของจำเลย เมื่อจำเลยกระทำต่อเช็คทั้งห้าฉบับ จึงเป็นความผิด 5 กรรมต่างกัน

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลล่างทั้งสองรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องมีใจความว่า โจทก์ทั้งสาม นายเธียร นายสมบัติและจำเลยร่วมกันเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากกระแสรายวันชื่อบัญชีว่า”ไต้เฮง” ที่ธนาคารมหานคร จำกัดสำนักงานใหญ่ โจทก์ทั้งสามร่วมกันเป็นผู้ทรงเช็ครวม ๕ ฉบับ เป็นเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาถนนตากสิน จำนวน ๓ ฉบับ มีนายซูลิ้มลงลายมือชื่อสั่งจ่าย จำเลยลงลายมือชื่อสลักหลัง และเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาถนนสี่พระยา๒ ฉบับ มีนายวุฒิไกรเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและจำเลยลงลายมือชื่อสลักหลัง เมื่อเช็คทั้งห้าฉบับถึงกำหนด โจทก์นำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับจำเลยได้กระทำความผิดหลายบทต่างกรรมต่างวาระกัน คือ เมื่อระหว่างวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๗ ถึงวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๗ ภายหลังจากที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งห้าฉบับแล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้สลังหลังเช็คทั้งห้าฉบับได้มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการกล่าวข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยจำขอรับเช็คทั้งห้าฉบับไปทวงถามผู้สั่งจ่าจให้ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์หลงเชื่อจึงมอบเช็คให้จำเลยไปซึ่งความจริงแล้วจำเลยมิได้มีเจตนาจะรับเช็คจากโจทก์ไปทวงถามให้ชำระหนี้ แต่จำเลยมีเจตนาจะรับเช็คไปเพื่อขีดฆ่าขูดลบลายมือชื่อของจำเลยซึ่งสลักหลังเช็คออก เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสามมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการฉ้อโกงโจทก์ และจำเลยโดยเจตนาทุจริตขีดฆ่าลบลายมือชื่อของจำเลยที่สลักหลังเช็คทั้งห้าฉบับออก อันเป็นการตัดทอนข้อความหรือแก้ไขรายการในเช็คดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารที่แท้จริง ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายไม่อาจไล่เบี้ยจำเลยในฐานะผู้สลักหลังได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสาร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๓๔๑, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๒๖๖(๔), ๙๐ และ ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๖ ให้ลงโทษจำคุกสำนวนละ ๒ ปีรวมสองสำนวนให้จำคุก ๔ ปี คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิด ๕ กรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑จำคุกกระทงละ ๑ ปี รวมจำคุก ๕ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยว่า การกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารของจำเลยตามมาตรา ๒๖๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้นเป็นความผิด ๕ กรรมต่างกัน หรือเป็นความผิดแต่เพียงกรรมเดียว ในการวินิจฉัยดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยได้ขีดฆ่าลายมือชื่อของจำเลยด้านหลังเช็คพิพาท ๒ ฉบับ ต่อหน้าโจทก์ที่ ๒โจทก์ที่ ๒ ร้องโวยวายขึ้น ในขณะที่โจทก์ที่ ๒ ร้องโวยวายนั้นจำเลยก็ได้ใช้หมึกลงลายมือชื่อของจำเลยด้านหลังเช็คพิพาทอีก ๓ฉบับด้วย ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยขีดฆ่าและลบลายมือชื่อของจำเลยในเช็คพิพาททั้งห้าฉบับเพื่อที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้สลักหลังในเช็คแต่ละฉบับ แม้จะเป็นการกระทำในเวลาใกล้เคียงและต่อเนื่องกัน แต่ก็เห็นได้ชัดว่าจำเลยจะทำเพียงฉบับเดียวหรือบางฉบับก็ได้ สุดแต่เจตนาของจำเลย เมื่อจำเลยกระทำต่อเช็คทั้งห้าฉบับ จึงเป็นความผิด ๕ กรรมต่างกัน
พิพากษายืน.

Share