คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2218/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพยายามฉ้อโกงนางสาว ส. ผู้เสียหายและทำลายเอกสารของนาย ธ. ผู้เสียหาย โดยจำเลยหลอกลวงว่า จำเลยเป็นผู้สื่อข่าวสามารถฝากนางสาว สง เข้าทำงานที่กรมตำรวจได้ และนางสาว ส. ต้องเสียเงินให้จำเลย 30,000 บาท จนนางสาว ส.หลงเชื่อ แต่นาย ธ. ตรวจสอบพบว่าจำเลยไม่ใช่ผู้สื่อข่าวจึงนำเงิน 5,500 บาท มอบให้จำเลยเป็นค่ามัดจำค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นหลักฐานในการจับกุมจำเลย จำเลยรับเงินไว้แล้วสั่งจ่ายเช็คให้นาย ธ. ไว้เป็นประกัน ต่อมาจำเลยได้แย่งเช็คดังกล่าวคืนมาจากนาย ธ. แล้วฉีกทำลายในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นาย ธ. เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาฐานความผิดทำลายเอกสารของผู้อื่น ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำฟ้องว่าเช็คดังกล่าวเป็นของผู้อื่น และการที่จำเลยทำลายนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น อันเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 แล้ว
เช็คของกลางที่จำเลยฉีกขาดนั้น มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 จึงไม่อาจริบได้และต้องคืนให้เจ้าของ สำหรับของกลางในข้อหาฉ้อโกงที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งคืน จึงคืนให้เจ้าของ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคืน
(ก) เมื่อระหว่างวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๐ เวลากลางวันถึงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๓๐ เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยหลอกลวงนางสาวสุนีย์ แซ่ลี้ ผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยเป็นผู้สื่อข่าวประจำบริษัทแปซิฟิคอินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และจำเลยสามารถฝากผู้เสียหายให้เข้าทำงานที่กรมตำรวจได้โดยไม่ต้องสอบแข่งขัน แต่ผู้เสียหายต้องเสียเงินให้จำเลยเป็นจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท สำหรับการฝากเข้าทำงาน เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงให้จำเลยฝากเข้าทำงานที่กรมตำรวจโดยให้จำเลยไปรับเงินค่ามัดจำค่าใช้จ่ายจำนวน ๗,๐๐๐ บาท จากนายธีระศักดิ์ เบญจาธิกุล เพื่อนของผู้เสียหาย ซึ่งนายธีระศักดิ์ ตรวจสอบพบว่าจำเลยมิได้เป็นผู้สื่อข่าวและจำเลยมีเจตนาจะหลอกลวงฉ้อโกงผู้เสียหาย นายธีระศักดิ์จึงนำเงิน ๕,๕๐๐ บาทใส่ซองมอบให้แก่จำเลยเพื่อใช้เป็นหลักฐานจับกุมจำเลย จำเลยรับเงินจากนายธีระศักดิ์ไว้และได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาอ่อนนุช จำนวนเงิน ๗,๐๐๐ บาท มอบให้นายธีระศักดิ์ไว้เป็นหลักประกัน จำเลยได้ลงมือทำผิดไปตลอดแล้วแต่ไม่บรรลุผลเพราะนายธีระศักดิ์ไม่หลงเชื่อตามที่จำเลยกล่าวอ้างหลอกลวงผู้เสียหาย จำเลยไม่อาจฉ้อโกงเอาเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทจากผู้เสียหายและนายธีระศักดิ์ไปได้
(ข) เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๓๐ เวลากลางวัน จำเลยได้ทำให้เสียหายซึ่งเอกสารของนายธีระศักดิ์ผู้เสียหายโดยจำเลยได้แย่งเอาเอกสารเช็คธนาคารกสิกรไทยสาขาอ่อนนุช จำนวนเงิน ๗,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยมอบให้นายธีระศักดิ์ไว้คืนมาแล้วฉีกออกเป็นสี่ส่วน อันเป็นการทำลายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายธีระศักดิ์ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยธนบัตรฉบับละ ๕๐ บาท จำนวน ๑๑ ฉบับ ซึ่งนายธีระศักดิ์มอบให้จำเลยและเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาอ่อนนุช จำนวน ๑ เล่ม นามบัตรชื่อจำเลย ๒๐ ใบ ภาพถ่ายรถยนต์เก๋งจำนวน ๑ ภาพ ซึ่งจำเลยใช้ในการกระทำความผิด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๙๑, ๘๐, ๓๔๑, ๑๘๘ ริบสมุดเช็คซึ่งจำเลยฉีกขาด นามบัตรชื่อจำเลยและภาพถ่ายรถยนต์เก๋งของกลาง
ระหว่างสืบพยานโจทก์ นางสาวสุนีย์ แซ่ลี้ ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ในข้อหาพยายามฉ้อโกง ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาทำลายเอกสารของผู้อื่น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๘๘ ให้จำคุก ๔ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ หลังจากสืบพยานไปบ้างแล้ว ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๖ เดือน ของกลางให้ริบ เฉพาะเช็คที่จำเลยฉีกขาด ส่วนของกลางอื่นนั้น เนื่องจากสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับโดยถอนคำร้องทุกข์ จึงไม่สั่งให้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหาวินิจฉัยคงมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘ หรือไม่ เห็นว่า ในความผิดฐานนี้จำเลยให้การว่า ” ขอให้การรับสารภาพในข้อหาฐานความผิดฐานทำลายเอกสารของผู้อื่น” เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำฟ้องว่า เป็นเอกสารของผู้อื่น และการที่จำเลยทำลายนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น อันเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘ และถึงแม้จะพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบว่า นายธีระศักดิ์วางแผนจับกุมจำเลยที่หลอกลวงนางสาวสุนีย์โดยมอบเงินให้จำเลยแล้วจำเลยออกเช็คให้ไว้เป็นหลักประกันก็ตาม เมื่อจำเลยมอบเช็คของกลางให้นายธีระศักดิ์แล้ว เช็คนั้นก็เป็นเอกสารของนายธีระศักดิ์ ส่วนเช็คนั้นมีมูลหนี้ที่จะเรียกร้องกันตามเช็คได้หรือไม่นั้นมิใช่ข้อสำคัญ เพราะ การทำลายเอกสารอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘ นั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเอกสารนั้นเป็นของใคร เมื่อเช็คเป็นของนายธีระศักดิ์ การที่จำเลยแย่งมาฉีกทำลายจึงเป็นการทำลายเอกสารของผู้อื่น และเช็คที่จำเลยมอบให้นายธีระศักดิ์แล้วนั้นจะเป็นพยานหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่จะใช้พิสูจน์การกระทำของจำเลยที่โจทก์อ้างว่าเป็นการฉ้อโกง การที่จำเลยทำลายเอกสารดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๘ คำพิพากษาของศาลอุทธรณืนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เช็คของกลางที่จำเลยฉีกขาดนั้น มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดในความผิดตามมาตรานี้ จึงไม่อาจริบได้และต้องคืนให้เจ้าของ ส่วนของกลางในข้อหาฉ้อโกงที่ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งคืนสมควรคืนให้เจ้าของเสียด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๙ และมาตรา ๑๘๖ (๙)
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ของกลางทั้งหมดให้คืนเจ้าของ.

Share