คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 199/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด แต่ได้พังทลายเป็นทางน้ำสาธารณะไปแล้ว ย่อมกลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นกรมในรัฐบาล จำเลยที่ ๒ เป็นพนักงานที่ดินจำเลยที่ ๓ เป็นช่างรังวัด เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ให้แบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนด เนื้อที่ ๔ไร่ ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมแบ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน ๒ ไร่ ให้จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ส่วนที่เหลือตกได้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ได้นำจำเลยที่ ๓ รังวัดแบ่งที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ ๑ งาน ๖๐ ตารางวา ซึ่งความจริงที่ดินหามีเนื้อที่เว้นไว้เป็นที่สาธารณะไม่เมื่อแบ่งที่ดินให้จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ จำนวน ๒ ไร่แล้ว โจทก์จึงได้เนื้อที่ส่วนที่เหลือขาดไป ๑ งาน ๖๐ ตารางวา ขอให้ยกเลิกการรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดใหม่และแก้เนื้อที่ดินให้ตรงกับจำนวนเนื้อที่ที่ได้รังวัดใหม่
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ให้การว่า น้ำได้เซาะที่ดินด้านทิศเหนือจนตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รูปแผนที่ที่จำเลยที่ ๓ รังวัดนั้นถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ได้ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชอบและถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินด้านทิศเหนือพังทลายเป็นทางน้ำสาธารณะเป็นเนื้อที่ ๑ งาน ๖๐ ตารางวาซึ่งจำเลยที่ ๓ ได้รังวัดหักที่เป็นทางน้ำสาธารณะออก โดยจำเลยที่ ๓กระทำตามคำสั่งที่ ๒๓/๒๔๘๑ ของกรมที่ดินและโลหกิจกระทรวงเกษตราธิการ คำสั่งกรมที่ดินที่ ๕/๒๔๘๕ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และได้นำส่วนที่เหลือของที่พิพาทมารังวัดแบ่งแยกให้จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวคนละ ๑ ไร่รวมเป็น ๒ ไร่ เห็นว่า จำเลยที่ ๓ ได้รังวัดแบ่งแยกดังกล่าวเป็นการถูกต้อง เพราะที่พิพาทได้พังทลายเป็นทางน้ำสาธารณะไปแล้ว จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ในส่วนนี้เนื้อที่ ๑ งาน ๖๐ ตารางวา จึงไม่ใช่ที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ ๖๔๐๑ อีก และการรังวัดแบ่งแยกให้แก่จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ คนละ ๑ ไร่ ก็เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมแล้ว
พิพากษายืน

Share