คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3371/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตน เมื่อรวมต้นเงินและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องสำหรับโจทก์ที่ 2 แล้วไม่เกิน 200,000 บาท ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกา จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า หนังสือสัญญากู้เงินเป็นนิติกรรมอำพรางการเข้าเป็นหุ้นส่วนในกองทุนที่จำเลยจัดตั้งหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีเป็นประเด็นไว้ แม้จะได้นำสืบในชั้นพิจารณาก็เป็นการนำสืบนอกคำให้การ เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามมิให้รับฟัง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 และถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249
โจทก์ทั้งสองต่างฟ้องจำเลยให้รับผิดใช้เงินจำนวนไม่เท่ากัน ค่าขึ้นศาลและค่าทนายความจึงต้องใช้ตามจำนวนทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้จำนวน ๓๘๙,๓๗๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๓๕๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ทั้งสอง และสัญญากู้เงินระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ ๓ ต่อเดือน เป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ที่ ๑ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และชำระหนี้แก่โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๑,๐๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ที่ ๒ ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดตามหนังสือสัญญากู้เงินจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท แม้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตน เมื่อรวมต้นเงินและดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องสำหรับโจทก์ที่ ๒ แล้วไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์ที่ ๒ จึงไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ ที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักให้เชื่อว่าจำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ เป็นฎีกาโต้เถียงในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ที่ ๒ จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย…
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยต่อไปมีว่า หนังสือสัญญากู้เงินเป็นนิติกรรมอำพรางการเข้าเป็นหุ้นส่วนในกองทุนที่จำเลยจัดตั้งหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีเป็นประเด็นไว้ แม้จะได้นำสืบในชั้นพิจารณา ก็เป็นการนำสืบนอกคำให้การ เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๗ การที่จำเลยฎีกาว่าหนังสือสัญญากู้เงินเป็นนิติกรรมอำพรางการเข้าเป็นหุ้นส่วนในกองทุนที่จำเลยจัดตั้ง เท่ากับเป็นการฎีกาให้รับฟังพยานหลักฐานของจำเลยว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ทั้งสอง แต่ได้ทำสัญญากู้เงินเพื่ออำพรางการเข้าเป็นหุ้นส่วนของโจทก์ทั้งสองในกองทุนของจำเลยอันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ทั้งสองต่างฟ้องจำเลยให้รับผิดใช้เงินจำนวนไม่เท่ากัน ค่าขึ้นศาลและค่าทนายความจึงต้องใช้ตามจำนวนทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๑,๐๐๐ บาท แทนโจทก์ จึงเป็นการกำหนดอัตราค่าทนายความต่ำกว่าขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในตาราง ๖ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน สำหรับฎีกาจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ ๑ และให้ยกฎีกาจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ ๒ ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ ๒ ทั้งหมดแก่จำเลย ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีการวม ๒,๔๐๐ บาท แทนโจทก์ทั้งสอง.

Share