แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำหน่ายรองเท้าโดยผลิตเองบ้าง สั่งซื้อรองเท้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศบ้าง และสั่งทำจากร้านต่างๆ ในประเทศบ้างนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับร้านผู้ทำรองเท้าสำหรับรองเท้าที่ทำในประเทศจะเข้าลักษณะสัญญาประเภทใด ก็ย่อมต้องดูเจตนาและกริยาของคู่กรณีที่ประพฤติต่อกัน เมื่อได้ความว่าโจทก์กับร้านผู้ทำรองเท้าตกลงกันเป็นเรื่องซื้อขายและปรากฏด้วยว่าผู้ทำรองเท้าเหล่านั้นได้ยื่นรายรับแสดงการชำระภาษีการค้า ในฐานะผู้ผลิตต่อกรมสรรพากร และชำระค่าภาษีไปแล้วจึงสนับสนุนให้เห็นเจตนาของโจทก์กับร้านเหล่านั้นว่ามุ่งที่จะก่อนิติสัมพันธ์กันในทางซื้อขาย มิใช่เรื่องเจตนาจ้างทำของ ส่วนที่มีข้อตกลงให้ร้านผู้ทำรองเท้าต้องทำรองเท้าตามชนิดขนาด ลักษณะ แบบ และวัสดุที่โจทก์กำหนดจะผลิตออกจำหน่ายแก่ผู้อื่นไม่ได้ ร้านผู้ทำรองเท้าต้องประทับตราเครื่องหมายการค้าของโจทก์บนรองเท้า และหีบห่อและต้องยินยอมให้โจทก์เข้าไปตรวจการผลิตรองเท้าก็เป็นเงื่อนไขที่คู่สัญญาซื้อขายอาจตกลงกำหนดเป็นข้อบังคับกันได้ ตามพาณิชโยบายของทั้งสองฝ่ายหาทำให้เจตนาของคู่สัญญาแปรเปลี่ยนไปไม่ เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อรองเท้าดังกล่าวไม่ใช่ผู้ผลิตโจทก์ก็ไม่ต้องเสียภาษีการค้าในฐานะผู้ผลิตรองเท้านั้น
การที่กรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าจากโจทก์และโจทก์ได้ชำระไปตามการประเมินนั้น ไม่ใช่เรื่องกรมสรรพากรได้ทรัพย์สิ่งใดโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ กรณีไม่ต้องห้ามฟ้องเมื่อพ้น 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 และเมื่อโจทก์ชำระค่าภาษีอากรตามกฎหมายแล้ว โจทก์ยังมีสิทธิอุทธรณ์ว่าการประเมินไม่ถูกต้องถ้าหากกรมสรรพากรไม่มีสิทธิเรียกเก็บตามกฎหมายก็ต้องคืนให้โจทก์โดยเฉพาะคดีนี้กรมสรรพากรเคยยอมคืนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนให้โจทก์แล้วโดยยอมให้หักเอาจากเงินค่าภาษี ที่โจทก์ต้องชำระแก่กรมสรรพากร ดังนี้กรมสรรพากรจะอ้างว่าได้ครอบครองเงินค่าภาษีที่โจทก์ชำระไปอย่างเป็นเจ้าของมาเกินกว่า 5 ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์นั้น ย่อมรับฟังไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ไม่ได้ประกอบกิจการเป็นผู้ผลิตสำหรับรองเท้าที่โจทก์สั่งซื้อจากผู้ผลิตในประเทศไทย และไม่ใช่เป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าอย่างผู้ผลิตสำหรับสินค้าชนิดนี้ เพราะผู้ผลิตสินค้ารองเท้าได้เสียภาษีการค้าในฐานะผู้ผลิตให้แก่รัฐบาลเรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าในฐานะผู้ผลิตอีก จึงขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ภาษีการค้าที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยนั้นขาดอายุความแล้ว และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว เพราะจำเลยครอบครองมาเกิน 5 ปี และการที่โจทก์สั่งทำร้องเท้าจากร้านรองเท้าในประเทศนั้นถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77 ต้องเสียภาษีการค้าในฐานะผู้ผลิต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามฟ้อง
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามประเด็นข้อแรกที่จะต้องวินิจฉัยเสียก่อนก็คือว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับร้านที่ทำร้องเท้าส่งให้แก่โจทก์นั้นเป็นนิติสัมพันธ์กันในลักษณะสัญญาซื้อขายดังโจทก์อ้าง หรือในลักษณะสัญญาจ้างทำของดังที่จำเลยต่อสู้ไว้ เพราะถ้าหากฟังว่าเป็นเรื่องโจทก์ซื้อสินค้าเข้ามาขายในร้าน ก็ย่อมจะไม่ใช่เป็นผู้ผลิตสินค้าอยู่ในตัว
ศาลฎีกาเห็นว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับผู้ทำร้องเท้าส่งให้แก่โจทก์จะเข้าลักษณะตามสัญญาประเภทใดก็ย่อมจะต้องดูจากเจตนา และกิริยาของคู่กรณีที่ประพฤติต่อกันเป็นสำคัญ ในเรื่องนี้โจทก์นำพยานฝ่ายร้านค้าที่ทำร้องเท้าส่งโจทก์มาเบิกความรับรองว่าทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงกันเป็นเรื่องซื้อขาย และพฤติการณ์ยังปรากฏอยู่ด้วยว่า พยานเหล่านั้นได้ยื่นรายรับแสดงการชำระภาษีการค้าในฐานะผู้ผลิตต่อจำเลยที่ 1 และได้ชำระค่าภาษีไปแล้ว จึงสนับสนุนให้เห็นเจตนาของโจทก์กับร้านค้าเหล่านั้นมา ทั้ง 2 ฝ่ายมุ่งที่จะก่อนิติสัมพันธ์กันในทางซื้อขาย หาใช่เป็นเรื่องเจตนาที่จะจ้างทำของไม่ ส่วนการที่ได้มีข้อสัญญาว่า ร้านทำร้องเท้าต้องทำร้องเท้าตามชนิด ขนาดลักษณะ แบบ และวัสดุที่โจทก์กำหนดโดยเคร่งครัดก็ดี จะผลิตออกจำหน่ายให้แก่ผู้อื่นไม่ได้ก็ดี ร้านค้าผู้ทำรองเท้าจะต้องประทับตราเครื่องหมายการค้าของโจทก์ลงไว้บนรองเท้าและหีบห่อตามความประสงค์ของโจทก์ก็ดีและการที่ร้านผู้ทำรองเท้าต้องยินยอมให้โจทก์เข้าไปตรวจการผลิตรองเท้าได้ก็ดีเงื่อนไขเหล่านี้คู่สัญญาซื้อขายก็อาจจะตกลงกำหนดเป็นข้อสัญญาบังคับกันได้ตามพาณิชโยบายของทั้ง 2 ฝ่าย หาทำให้เจตนาของคู่สัญญาแปรเปลี่ยนแปลงสภาพไปเป็นอย่างอื่นไม่ จำเลยก็มิได้ต่อสู้และนำสืบให้เห็นว่าได้เป็นการอำพรางเจตนาที่แท้จริงอย่างอื่นแต่ประการใดเลย ศาลฎีกาจึงฟังว่าโจทก์ซื้อสินค้ารองเท้าซึ่งเป็นมูลกรณีพิพาทกันนี้จากร้านทำรองเท้าไม่ใช่เป็นเรื่องจ้างทำของ ฉะนั้นข้อโต้แย้งของจำเลยที่ว่า การกระทำของโจทก์เป็นวิธีการผลิตสินค้ารองเท้าของโจทก์อย่างหนึ่งจึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้ในประเด็นข้อแรกนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
สำหรับประเด็นข้อ 2 เรื่องคำขอเรียกเงิน 1,513,680.84 บาท ของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าจากโจทก์ และโจทก์ได้ชำระไปตามการประเมินของจำเลยนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ กรณีจึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้น 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่าเงินภาษีที่พิพาทดังกล่าวข้างต้นได้ตกเป็นของรัฐแล้วตั้งแต่วันที่โจทก์เสียภาษี โดยจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองเงินภาษีดังกล่าวไว้โดยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกินกว่า 5 ปี กรรมสิทธิ์จึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 แล้วนั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์ชำระหนี้ค่าภาษีอากรตามกฎหมายแล้ว โจทก์ยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ว่าการประเมินของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้อง ถ้าหากจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะเรียกเก็บได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ก็ย่อมมีหน้าที่จะต้องคืนเงินจำนวนเท่ากับที่โจทก์ได้ชำระไปให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ก็ยอมคืนเงินจำนวนนี้ให้แก่โจทก์มาแล้ว โดยให้หักเอาจากเงินค่าภาษีที่พิพาทตามประเด็นข้อ 1 ฉะนั้นที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ครอบครองเงินค่าภาษีที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของมากว่า 5 ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์แล้วนั้น รับฟังไม่ได้ ฎีกาจำเลยในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษายืน