คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1806/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อาคารพิพาทก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นจำเลยเป็นเจ้าของอาคารพิพาท แม้ว่าจะมิได้เป็นผู้ก่อสร้างอาคารพิพาทก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งสั่งให้จำเลยแก้ไขอาคารพิพาทให้ถูกต้อง แล้วยื่นขอรับใบอนุญาตใหม่ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อไม่ปฏิบัติตามเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทได้ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครอง อาคารเลขที่ ๖๘/๒๘ จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารหลังดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้าง จำเลยไม่ปฏิบัติตามจึงแจ้งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ปลูกสร้าง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ออกคำสั่งใหม่ให้จำเลยแก้ไขอาคารให้ถูกต้อง เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยแก้ไขอาคารให้ถูกต้อง แล้วยื่นคำขอรับใบอนุญาตจำเลยเพิกเฉย จึงมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ปลูกสร้าง จำเลยทราบคำสั่งแล้วยังคงเพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับจำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าวตามแผนที่สังเขปในกรอบรูปพื้นที่สีเหลืองเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๔ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้ออาคารพิพาทจากผู้อื่นโดยสุจริต ไม่ทราบเรื่องการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดเทศบัญญัติ จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ จำเลยได้แก้ไขอาคารพิพาทตามคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารเลขที่ ๖๘/๒๘ ตามแผนที่สังเขปในกรอบรูปพื้นที่สีเหลือง เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๔ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์รื้อถอนได้เอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่า ผู้ก่อสร้างอาคารพิพาทได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือไม่ และจำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในการรื้อถอนอาคารพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยสร้างอาคารพิพาทโดยไม่รับอนุญาต และเป็นการก่อสร้างที่ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และประกาศกรุงเทพมหานครจำเลยให้การมีข้อความพอสรุปได้ว่า จำเลยได้รับโอนที่ดินและอาคารพิพาทจากบริษัทสากลรวมทุน (ประเทศไทย) จำกัด โดยสุจริต ไม่ทราบเรื่อง การก่อสร้างอาคารพิพาทผิดเทศบัญญัติมาก่อน การรื้อถอนอาคารพิพาทควรเป็นเรื่องระหว่างบริษัทสากลรวมทุน (ประเทศไทย) จำกัด และเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์เป็นคำให้การที่จำเลยไม่ได้ปฏิเสธเรื่องก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและการก่อสร้างที่ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและประกาศกรุงเทพมหานครโดยชัดแจ้งเท่ากับยอมรับปัญหานี้ นายกิตติ ลิมปิยะกุล พยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๒๔ เวลา ๑๑ นาฬิกา พยานพบอาคารพิพาทก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยคนงานบอกว่าจำเลยเป็นเจ้าของและสั่งให้ก่อสร้าง พยานจึงทำรายงานถึงผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เห็นว่า พยานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานไปตามหน้าที่ไม่มีเหตุให้น่าระแวงว่าจะกลั่นแกล้งจำเลย ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๔ หัวหน้าเขตบางรัก มีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างตามเอกสารหมาย จ.๔ วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๒๔ สั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.๖ และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนจึงเปรียบเทียบปรับวันละ ๕๐๐ บาท เป็นเวลา ๔๗ วัน ตามเอกสารหมาย จ.๑๗ นายสมนึก เจ้ดสีโพธิ์ถาวร พยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๖ ออกตรวจอาคารพิพาท ปรากฏว่าด้วยหลังอาคารห่างแนวเขตที่ดิน ๑.๙๐ เมตร ด้านหน้าอาคารชิดแนวเขตที่ดินเป็นการชัดต่อประกาศกรุงเทพมหานครข้อ ๔.๒ ตามเอกสารหมาย จ.๗ และอาคารดังกล่าวก่อสร้างขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๗๔, ๗๖ (๑) อาคารดังกล่าวไม่สามารถอนุญาตให้ก่อสร้างได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า อาคารพิพาทก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และอาคารที่ก่อสร้างก็ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตปลูกสร้างอาคารแถวอยู่อาศัย ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๒ ตามเอกสารหมาย จ.๗ จำเลยมาสืบยอมรับว่า หลังจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยแล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งให้จำเลยแก้ไขอาคารให้ถูกต้อง แล้วขอรับใบอนุญาตใหม่ภายใน ๓๐ วัน ตามเอกสารหมาย จ.๙ แต่จำเลยก็ไม่ได้แก้ไขหรือยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายในกำหนด ๓๐ วัน และต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารพิพาทตามเอกสารหมาย จ.๘ จำเลยก็ไม่ได้รื้อถอนอาคารพิพาทหรืออุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าของอาคารไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตหรือเจ้าของอาคารหรือผู้ดำเนินการไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารตามวรรคหนึ่ง หรือไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้องตามวรรคสองให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสังให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวในส่วนที่เห็นสมควรได้ และให้นำมาตรา ๔๒ วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า มาบังคับใช้โดยอนุโลม” เห็นว่าตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารไม่ว่าได้เป็นผู้ก่อสร้างอาคารหรือไม่ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น เมื่อไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๓,๐๐๐ บาท

Share