แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมซื้อฟิล์มภาพยนตร์เรื่องหนึ่งจาก ว.ซึ่งซื้อมาจากอ. ผู้สร้างสรรค์อีกทอดหนึ่ง โดยในสัญญาไม่ปรากฏข้อความที่แสดงให้เห็นว่า อ.ได้โอนขายลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์นั้นให้ว. โจทก์ร่วมจึงมิใช่เจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้รับโอนลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์เรื่องนั้น ดังนั้นเมื่อจำเลยนำฟิล์มภาพยนตร์อีกก๊อปปี้หนึ่งเรื่องเดียวกันให้เช่าและมีผู้นำออกฉายจึงมิได้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ของผู้เสียหายโดยนำฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง “ข้ามาคนเดียว” อันเป็นฟิล์มภาพยนตร์ที่ได้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดสิทธิของผู้อื่น และไม่มีเครื่องหมายของเจ้าพนักงานประทับไว้ ให้นายสุวพจน์กับนายสมเกียรติเช่าอันเป็นการกระทำเพื่อการค้าและนายสุวพจน์กับพวกได้นำภาพยนตร์ดังกล่าวไปโฆษณาฉายภายในเขตที่นายสงวนศักดิ์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในการนำภาพยนตร์ดังกล่าวออกฉายให้ประชาชนชมแต่เพียงผู้เดียว ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 27, 44 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
นายสงวนศักดิ์ มีสมบูรณ์พูลสุข ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 27, 44 วรรคสอง ริบของกลาง และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในสถานหนัก จัดแบ่งค่าปรับตามคำพิพากษาให้โจทก์ร่วมกึ่งหนึ่ง ให้ฟิล์มภาพยนตร์ของกลางตกเป็นของโจทก์ร่วมด้วย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ส่วนของกลางให้คืนเจ้าของ
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และคืนของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง และจัดแบ่งค่าปรับตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ร่วมเป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง ให้ฟิล์มภาพยนตร์ของกลางตกเป็นของโจทก์ร่วม
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 การกระทำที่จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้นั้น ผู้กระทำจะต้องทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือนำออกโฆษณาโดยไม่รับอนุญาต ฯลฯ แก่งานของเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือผู้รับโอนลิขสิทธิ์นั้นเท่านั้น แต่เมื่อได้พิเคราะห์ข้อความที่ปรากฏในสัญญาเอกสารหมาย จ.2คงได้ความว่าสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงสัญญาที่นายวิชาญซื้อก๊อปปี้ฟิล์มภาพยนตร์เรื่องที่เกิดเหตุในคดีนี้จากนายอำพรผู้สร้างสรรค์ โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้นำไปฉายได้ในสถานที่ต่าง ๆ ตามที่ตกลงกันเท่านั้น หาได้มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่านายอำพรผู้สร้างสรรค์ได้โอนขายลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์นั้นให้นายวิชาญแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมซื้อฟิล์มภาพยนตร์นั้นจากนายวิชาญต่อมาอีกทอดหนึ่งตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.5 โจทก์ร่วมก็คงได้รับโอนสิทธิในฟิล์มภาพยนตร์นั้นจากนายวิชาญเพียงเท่าที่นายวิชาญมีอยู่เท่านั้น กรณีฟังไม่ได้ว่า โจทก์ร่วมได้รับโอนลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวนั้นและเมื่อโจทก์ร่วมไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้รับโอนลิขสิทธิ์ การที่จำเลยที่ 2 ให้นายสุวพจน์เช่าฟิล์มภาพยนตร์ของกลางและนายสมเกียรตินำออกฉาย จึงมิได้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน