คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4145/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เกิดในราชอาณาจักร ไทย จึงมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) แม้โจทก์จะใช้สัญชาติของบิดาโดยขอบัตรประจำตัวคนญวนอพยพ แต่โจทก์ก็ยังคงมีสัญชาติไทย เพราะยังมิได้มีการถอนสัญชาติตามมาตรา 17 วรรคท้าย ต่อมาโจทก์ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2514 เมื่อโจทก์เสียสัญชาติไทยจึงต้องไปขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวจากนายทะเบียนท้องที่ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493 มาตรา 8 จำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนท้องที่จึงมีหน้าที่ต้องออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ทั้งสี่เกิดในราชอาณาจักรไทย โจทก์ทั้งสี่เป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต การออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเป็นอำนาจและดุลพินิจของนายทะเบียนคนต่างด้าวซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์ทั้งสี่
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสี่เกิดในราชอาณาจักรไทยจึงมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗(๓) แม้โจทก์ทั้งสี่จะใช้สัญชาติของบิดาโดยขอบัตรประจำตัวคนญวนอพยพก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสี่ก็ยังคงมีสัญชาติไทยอยู่ตามกฎหมายเพราะยังมิได้มีการถอนสัญชาติตามมาตรา ๑๗ วรรคท้าย จนกระทั่งมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ โจทก์ทั้งสี่จึงถูกถอนสัญชาติไทย ฉะนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่เสียสัญชาติไทย จึงต้องไปขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวจากนายทะเบียนท้องที่ ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๘ จำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนท้องที่จึงมีหน้าที่ต้องออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์ทั้งสี่
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share