แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของจำเลยมิได้ระบุห้ามก่อการวิวาทหรือชกต่อยกันนอกโรงงานหรือบริษัทฯ แต่ สาเหตุที่โจทก์ชกต่อยพนักงานระดับหัวหน้างานในแผนกเดียว กับโจทก์ก็เนื่องมาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ของหัวหน้างาน แม้จะเป็นการกระทำนอกโรงงานหรือบริษัทของจำเลย ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีในหมู่ พนักงานด้วยกันของจำเลย และอาจเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนต่อการดำเนินงานของจำเลยตลอดจนอำนาจบังคับบัญชาของหัวหน้างานต่อไปในภายหน้า การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยเสียหายจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
โจทก์ชกต่อยหัวหน้างานนอกเวลาทำงานและนอกบริเวณโรงงานหรือบริษัทของจำเลย กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ได้ กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้ลุล่วงไปโดย ถูกต้องและสุจริตตาม ความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583แต่เป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงตาม บทมาตราดังกล่าว
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 6กำหนดว่า “ในวันทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักติดต่อกันไม่น้อยกว่าวันละหนึ่งชั่วโมง หลังจากลูกจ้างได้ ทำงานในวันนั้นมาแล้วไม่เกินห้าชั่วโมง ฯลฯ” เมื่อนายจ้างไม่จัดให้ลูกจ้างได้ มีเวลาพัก 1 ชั่วโมง ย่อมเป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ทำให้ลูกจ้างต้อง ทำงานเกินกว่าเวลาทำงานปกติไปจำนวนวันละ 1 ชั่วโมงเต็ม ลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องเป็นค่าจ้างส่วนที่ทำงานเกินไปนี้จากนายจ้าง โดยเฉลี่ยจากค่าจ้างของแต่ละวันที่ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง
สิทธิที่จะได้รับค่าครองชีพเป็นสิทธิที่กำหนดขึ้นตาม บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างมีสิทธิกำหนดหรือตกลง ให้เป็นไปตาม เจตนารมณ์ของนายจ้างได้ เมื่อนายจ้างได้ บันทึกข้อตกลงไว้ว่า ลูกจ้างประจำเท่านั้นที่มีสิทธิได้รับค่าครองชีพก็ต้อง เป็นไปตามนั้นแม้ลูกจ้างชั่วคราวซึ่ง ทำงานติดต่อกันมาเกินกว่า 120 วัน และมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ก็ย่อมหมายถึง สิทธิที่ลูกจ้างประจำมีอยู่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานเท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยในระหว่างกำหนดเวลาที่โจทก์เรียกร้องค่าครองชีพ จำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำระหว่างวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๐ ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๑ จำเลยให้โจทก์ทำงานโดยมิได้จัดให้พักไม่น้อยกว่าวันละ ๑ ชั่วโมง ไม่จ่ายค่าครองชีพให้โจทก์เวลา ๖ เดือน และค้างจ่ายค่าจ้างบางส่วน วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๑ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินสะสม จ่ายค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้าง ค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ย และให้จ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินค่าจ้าง และเงินค่าครองชีพที่ค้างชำระทุก ๆ ระยะ ๗ วันนับแต่วันเลิกจ้าง หรือพร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวของจำเลยอยู่ ๑ ปี ครบ ๑ ปี จึงบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดอย่างร้ายแรง โดยชกต่อยนายศักดา ทิพย์นุช ซึ่งมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ เนื่องจากนายศักดาไม่เปิดงานพิเศษให้โจทก์ทำอันเป็นสาเหตุมาจากการทำงาน จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยไม่เคยให้โจทก์ทำงานในช่วงเวลาพัก จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าครองชีพ เพราะจำเลยจ่ายค่าครองชีพให้ลูกจ้างที่ได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำเท่านั้น แต่ช่วงเวลาที่โจทก์เรียกร้อง โจทก์ยังเป็นลูกจ้างชั่วคราว ส่วนเงินสะสม จำเลยพร้อมจะจ่ายให้แต่โจทก์ไม่ติดต่อขอรับเอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๘,๑๓๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๓๑ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.๑ ข้อ ๕๔ มิได้ระบุห้ามการก่อวิวาทหรือชกต่อยกันนอกโรงงานหรือบริษัทก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่าสาเหตุที่โจทก์ชกต่อยนายศักดาซึ่งเป็นพนักงานระดับหัวหน้างานในแผนกเดียวกับโจทก์ เนื่องจากนายศักดาไม่เปิดให้โจทก์ทำงานพิเศษ จึงเป็นการทำร้ายนายศักดาเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ แม้จะกระทำนอกโรงงานหรือบริษัทของจำเลยก็ตาม ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกความสามัคคีในหมู่พนักงานด้วยกันของจำเลยอาจเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนต่อการดำเนินของจำเลย ตลอดจนอำนาจบังคับบัญชาของนายศักดาต่อไปในภายหน้า การกระทำของโจทก์ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
การที่โจทก์ชกต่อยนายศักดาพนักงานระดับหัวหน้างานในแผนกเดียวกับโจทก์นอกเวลาทำงานและนอกบริเวณโรงงานหรือบริษัทของจำเลยนั้น กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ได้กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามความหมายแพ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ แต่ถือได้ว่า โจทก์ประพฤติชั่วตามข้อบังคับของจำเลย อันเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรงตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวแล้ว จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนแก่โจทก์
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๖ กำหนดว่า “ในวันทำงานให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักติดต่อกันไม่น้อยกว่าวันละหนึ่งชั่วโมง หลังจากลูกจ้างได้ทำงานในวันนั้นมาแล้วไม่เกินห้าชั่วโมง ฯลฯ” และมีคำจำกัดความของคำว่า “เวลาพัก” ในข้อ ๒ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย ดังกล่าว กำหนดว่า “หมายความว่าระยะเวลาที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดพักระหว่างการทำงาน” ดังนั้นตามข้อบัญญัติกล่าวจึงมีความหมายว่า ในวันทำงานของลูกจ้างในแต่ละวันนายจ้างจะต้องให้ลูกจ้างมีเวลาพักในระหว่างการทำงานนั้นไม่น้อยกว่าวันละ ๑ ชั่วโมง การที่จำเลยมิได้จัดให้โจทก์ได้มีเวลาพัก ๑ ชั่วโมง ย่อมขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย ดังกล่าว ข้อ ๖ อย่างชัดแจ้ง และทำให้โจทก์ต้องทำงานเกินเวลาทำงานปกติของแต่ละกะในแต่ละวันไปเป็นจำนวนวันละ ๑ ชั่วโมงเต็ม โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเป็นค่าจ้างส่วนที่ทำงานเกิดไปนี้จากจำเลยได้ โดยเฉลี่ยจากค่าจ้างขอแต่ละวันที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลย
สิทธิที่จะได้รับค่าครองชีพเป็นสิทธิที่กำหนดขึ้นตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยมีสิทธิที่จะกำหนดหรือตกลงเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยได้เมื่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างได้บันทึกข้อตกลงไว้ว่าลูกจ้างประจำเท่านั้นมีสิทธิได้รับค่าครองชีพ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น แม้โจทก์จะเป็นลูกจ้างชั่วคราวซึ่งทำงานติดต่อกันมาเกินกว่า ๑๒๐ วัน และมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำก็ตาม ก็ย่อมหมายถึงสิทธิที่ลูกจ้างประจำมีอยู่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยในระหว่างกำหนดเวลาที่โจทก์เรียกร้องมาจำเลยจึงไม่มีหน้าที่จะต้องจ่ายค่าครองชีพ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างส่วนที่จำเลยให้โจทก์ทำงานเกินกว่าเวลาทำงานปกติวันละ ๑ ชั่วโมง เป็นเงิน ๔,๑๓๖ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๑ อันเป็นวันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง.