คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1633/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการขอให้พิจารณาใหม่จำเป็นที่ต้องตรวจดูสำนวนคดีเพื่อทราบคำฟ้องและกระบวนพิจารณาคดีตลอดจนคำพิพากษาของศาลเสียก่อน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า การได้รับสำเนาสำนวนคดีจากเจ้าพนักงานศาลล่าช้า ทำให้ไม่สามารถตรวจดูสำนวนคดีคำฟ้องและกระบวนพิจารณาตลอดจนคำพิพากษาของศาลได้ ถือได้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้
จำเลยยื่นคำร้องขอให้มีการพิจารณาใหม่ วันที่ 6 สิงหาคม 2530 อ้างว่าจำเลยรู้ว่าถูกยึดทรัพย์เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2530 รุ่งขึ้นจำเลยเดินทางไปต่างจังหวัด และกลับถึงบ้านวันที่ 19 กรกฎาคม 2530 วันที่ 20 กรกฎาคม 2530 จำเลยติดต่อขอคัดสำเนาสำนวนคดี เจ้าพนักงานศาลถ่ายสำเนาคดีให้จำเลยได้ภายใน 8 วัน และเกี่ยวกับทะเบียนบ้านเจ้าหน้าที่เขตก็สามารถตรวจสอบแจ้งให้จำเลยทราบผลภายใน 3 วัน หากจำเลยไม่ปล่อยปละละเลยไปต่างจังหวัดเสีย 11 วัน จำเลยก็สามารถยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้ทันภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบว่าถูกยึดทรัพย์การที่จำเลยเดินทางไปต่างจังหวัด แม้จะเป็นความจริงก็หาเป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติการณ์นอกเหนือที่ไม่อาจบังคับได้ไม่ ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจึงเป็นความบกพร่องของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้ชำระเงินจำนวน ๔๑,๘๕๖ บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีของเงินต้น ๒๐,๕๐๑ บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๒๐,๕๐๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๒ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องไม่ให้เกิน ๑,๓๕๕ บาท) กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๖๐๐ บาท
จำเลยยื่นคำร้องขอให้มีการพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย มีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยจะอ้างพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ และยื่นคำขอให้มีการพิจารณาใหม่ในคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่าที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยขอถ่ายสำเนาสำนวนคดีไม่อาจถือเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๘ วรรคสอง บัญญัติว่า คำขอให้มีการพิจารณาใหม่ให้กล่าวโดยละเอียดแจ้งชัด ซึ่งเหตุที่คู่ความได้ขาดนัดและข้อคัดค้านคำตัดสินของศาล เมื่อจำเลยยังไม่ได้ตรวจดูสำนวนก็ย่อมไม่ทราบคำฟ้อง และกระบวนพิจารณาคดีตลอดจนคำพิพากษาของศาล ไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ จึงอาจถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ แต่คดีนี้จำเลยทราบว่า ถูกยึดทรัพย์เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๓๐ แต่มาขอคัดสำเนาสำนวนคดีเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๓๐ เป็นเวลาภายหลังต่อมาถึง ๑๑ วัน ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าเดินทางไปต่างจังหวัด แม้จะเป็นความจริงก็หาเป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติการณ์นอกเหนือที่ไม่อาจบังคับได้ไม่ ปรากฏว่าเจ้าพนักงานศาลถ่ายสำเนาสำนวนคดีให้จำเลยได้ภายใน ๘ วัน และเกี่ยวกับทะเบียนบ้าน เจ้าหน้าที่ก็สามารถตรวจสอบแจ้งให้จำเลยทราบผลได้ภายใน ๓ วัน หากจำเลยไม่ปล่อยปละละเลย รีบเร่งขวนขวายจัดทำเสียในเวลาอันสมควรตั้งแต่จำเลยทราบว่าถูกยึดทรัพย์ จำเลยก็จะสามารถยื่นคำร้องขอให้มีการพิจารณาใหม่ได้ทันภายใน ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบว่าถูกยึดทรัพย์ เช่นนี้ การที่จำเลยยื่นคำร้องล่าช้า เกิดขึ้นเพราะความบกพร่องของจำเลยโดยแท้ จึงจะอ้างไม่ได้ว่าเป็นเพราะพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลล่างให้ยกคำร้องของจำเลยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share