คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1440/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ จำเลยกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่เมื่อศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่บุคคลภายนอกอันจะกล่าวอ้างพิสูจน์สิทธิใหม่ และพิพากษายกฟ้อง ดังนี้ เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมาย อันทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 การอุทธรณ์คำสั่งนี้และฎีกาต่อมา จึงเป็นการอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227 ตามบัญญัติไว้ในตาราง 1 ข้อ 2 ข. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต้องเสียค่าขึ้นศาล 50 บาท
สามีเคยให้ความยินยอมแก่ภริยาต่อสู้คดีกับจำเลย และให้ฟ้องจำเลยเกี่ยวกับที่พิพาทมาแล้ว คดีถึงที่สุด โดยศาลพิพากษาว่าภริยามีสิทธิรับมรดกที่ดินเท่าที่ระบุไว้ในพินัยกรรม ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าที่พิพาทอยู่นอกพินัยกรรม สามีจะรื้อฟื้นมาฟ้องจำเลยอีกว่าที่พิพาทเป็นของสามี ได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ มิใช่ที่ดินของเจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมหาได้ไม่ เพราะสามีต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกับภริยา คำพิพากษาคดีดังกล่าวย่อมผูกพันสามีด้วย (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 699/2498)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่เศษ ได้ปลูกบ้านอาศัยตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๖ ต้น พ.ศ.๒๕๑๖ จำเลยนำเจ้าพนักงานทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดทับที่ดินของโจทก์ด้านทิศเหนือ เนื้อที่ประมาณ ๓๘๔ ตารางวา เป็นการรบกวน ขัดขวางและแย่งการครอบครอง โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินทำการสอบสวนและเปรียบเทียบเสนอเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้โจทก์ฟ้อง จึงขอให้ศาลบังคับห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินเป็นของนายทวี ประเสริฐคุณตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ ๓๖๒, ๓๖๓ ได้ให้นางวรรณศิริ สุขเกษม ภริยาโจทก์ปลูกบ้านอาศัยบางส่วน นายทวีถึงแก่กรรม ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินที่ปลูกเรือนอาศัยให้นางวรรณศิริเป็นสินส่วนตัว จำเลยก็ได้รับที่ดินของนายทวีตามพินัยกรรมคือที่ดินตาม น.ส.๓ เลขที่ ๓๖๓ บางส่วน นางวรรณศิริภริยาโจทก์ได้รับรองสิทธิในที่ดินตามพินัยกรรม ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ ๖๒๒, ๖๒๓, ๖๒๔/๒๕๑๓ เลที่ ๕๑๖/๒๕๑๔ ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนางวรรณศิริเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวก คดีถึงที่สุด แล้วได้จัดการแบ่งที่ดินที่จำเลยได้รับซึ่งจำเลยได้ยื่นคำขอออกโฉนด หาได้รุกล้ำทับที่ของนางวรรณศิริไม่
วันชี้สองสถาน โจทก์แถลงรับว่าที่ดินพิพาทรวมอยู่ในที่ดินตาม น.ส.๓ เลขที่ ๓๖๒ และ ๓๖๓ คาบเกี่ยวกันตามพินัยกรรมของนายทวีจริง โจทก์เป็นสามีนางวรรณศิริซึ่งเป็นทายาทได้รับมรดกคนหนึ่งตามพินัยกรรม ต่อมาทายาทของนายทวีได้พิพาทกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดก และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันจริง ซึ่งนางวรรณศิริเป็นจำเลยที่ ๓ โดยโจทก์ซึ่งเป็นสามีได้ให้ความยินยอมในการดำเนินคดีถูกต้องแล้วคดีหนึ่ง และนางวรรณศิริยังได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้และทายาทอื่นของนายทวีเกี่ยวกับที่ดิน น.ส.๓ เลขที่ ๓๖๒ และ ๓๖๓ ซึ่งเป็นที่พิพาทนี้โดยตรงอีกคดีหนึ่ง ผลของคดีปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งถึงที่สุดแล้ว นายทวีได้แบ่งที่พิพาทให้โจทก์เมื่อสมรสกับนางวรรณศิริ แล้วเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่พิพาทตั้งแต่ พงศ.๒๔๙๖ เป็นต้นมาจนบัดนี้ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองปรปักษ์
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ครอบครองที่พิพาทโดยอาศัยสิทธินายทวี โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของที่พิพาท นางวรรณศิริภริยาโจทก์โดยความยินยอมของโจทก์ได้พิพาทกับทายาทอื่นของนายทวีเกี่ยวกับที่พิพาท ได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและมีคำพิพากษาตามยอมกันแล้ว ต่อมาภริยาโจทก์โดยความยินยอมของโจทก์ก็ได้ฟ้องจำเลยในทรัพย์มรดกรายเดียวกันนี้อีก และได้มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกอันจะกล่าวอ้างพิสูจน์สิทธิใหม่ ต้องผูกพันตามผลแห่งคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์นั้นยังไม่ชอบเพราะประเด็นโต้เถียงกันยังมีอยู่ว่า โจทก์ครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาทหรือไม่ ส่วนคดีที่ได้มีการประนีประนอมยอมความกันไปแล้วทั้ง ๔ คดีนั้น ประเด็นต่างกันกับคดีนี้ คำพิพากษาในคดีก่อน ๆ จึงไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานต่อไปจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์แก้ฎีกาว่าจำเลยมิได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์ และจำเลยกล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่เมื่อศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่บุคคลภายนอกอันจะกล่าวอ้างพิสูจน์สิทธิใหม่ และพิพากษายกฟ้องโจทก์ เป็นการที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายอันทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔ การอุทธรณ์คำสั่งนี้และฎีกาต่อมา เป็นการอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๗ ตามที่บัญญัติไว้ในตาราง ๑ ข้อ ๒ ข. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงเรื่องละ ๕๐ บาท แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาต่อไปจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ และจำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์ ก็เห็นได้ว่าเป็นคำขอให้จำเลยชนะคดีในประเด็นอำนาจฟ้องของโจทก์ดังข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นอันเป็นข้อกฎหมายนั่นเอง จึงหาต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ไม่ ที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกา ๕๐ บาทจึงถูกต้องแล้ว
คดีได้ความตามที่โจทก์ยอมรับข้อเท็จจริวว่า ที่ดินพิพาทรวมอยู่ในที่ดิน น.ส.๓ เลขที่ ๓๖๒ และ ๓๖๓ คาบเกี่ยวกัน ที่ดินสองแปลงนี้เป็นของนายทวีเจ้ามรดก โจทก์เป็นสามีของนางวรรณศิริทายาทผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของนายทวี นางวรรณศิริเคยพิพาทกับจำเลยในคดี และพิพาทกับทายาทอื่นของนายทวีเกี่ยวกับที่ดินตาม น.ส.๓ เลขที่ ๓๖๒ และ ๓๖๓ ตามคดีหมายเลขแดงที่ ๖๒๒ ถึง ๖๒๔/๒๕๑๓ โดยนางวรรณศิริเป็นจำเลยที่ ๓ ส่วนจำเลยนี้เป็นจำเลยที่ ๒ ในที่สุดคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยเฉพาะสิทธิของนางวรรณศิริให้เป็นไปตามพินัยกรรมของนายทวี ศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้วและในการที่นางวรรณศิริดำเนินคดีดังกล่าว โจทก์ได้ให้ความยินยอมด้วยเป็นคดีหนึ่งนอกจากนั้นโจทก์ได้ให้ความยินยอมให้นางวรรณศิริภริยาโจทก์ฟ้งอคดีหมายเลขแดงที่ ๕๑๖/๒๕๑๔ ห้ามมิให้จำเลยกับพวกเข้าเกี่ยวข้องในทรัพย์มรดกของนายทวีซึ่งมีที่พิพาทคดีนี้รวมอยู่ด้วย โดยอ้างว่าภริยาโจทก์ได้ครอบครองใช้ประโยชน์และปลูกบ้านอยู่อาศัยตั้งแต่เจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ และเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้ภริยาโจทก์ซ้ำอีก คดีที่กล่าวนี้ถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อ้างถึงด้วยว่านางวรรณศิริมีสิทธิรับมรดกที่ดิน น.ส.๓ เลขที่ ๓๖๒ และ ๓๖๓ เฉพาะเท่าที่เจ้ามรดกระบุอาณาเขตกว้างยาวไว้ในพินัยกรรมข้อ ๕ และข้อ ๖ เป็นอีกคดีหนึ่ง จึงเห็นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับที่พิพาทซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๙ เมื่อโจทก์ให้ความยินยอมให้นางวรรณศิริภริยาของตนฟ้องคดีเกี่ยวกับที่พิพาทตามคดีหมายเลขแดงที่ ๕๑๖/๒๕๑๔ ถือได้ว่านางวรรณศิริฟ้องคดีโดยอาศัยสิทธิโจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ด้วย คดีทำนอนี้ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๙/๒๔๙๘ วินิจฉัยไว้แล้วเมื่อปรากฏว่าที่พิพาทอยู่นอกพินัยกรรมข้อ ๕ และข้อ ๖ ที่พิพาทจึงมิใช่ที่ดินซึ่งนางวรรณศิริได้มาโดยพินัยกรรมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีเรื่องก่อนโจทก์จึงจะรื้อฟื้นมาฟ้องเป็นคดีนี้อีกว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยเริ่มครอบครองตั้งแต่สมรสกับนางวรรณศิริ มิใช่ที่ดินของนายทวีเจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมหาได้ไม่ เพราะโจทก์ต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกับนางวรรณศิริภริยาของตน
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share