แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาลชั้นต้นว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยก็มิได้ยกปัญหาข้อนี้ต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ ดังนี้ จำเลยจะกลับมายกปัญหานี้ขึ้นอ้างในศาลฎีกาอีกไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๘ นายขนได้สมรสกับนางสังวาลย์ มีบุตร ๒ คน คือโจทก์ที่ ๑, ที่ ๒ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้สมรสกับนางเกียวเกิดบุตรด้วยกัน ๓ คน คือโจทก์ที่ ๓, ที่ ๔, ที่ ๕ เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๐ นายขนได้จำเลยที่ ๑ เป็นภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตร ๓ คน คือ จำเลยที่ ๒, ที่ ๓ และที่ ๔ ในการสมรสกับนางสังวาลย์และนางเกียว นายขนมีสินเดิมคือเงินสดประมาณ ๕๐๐ บาท นางสังวาลย์มีสินเดิมเช่นเครื่องทองรูปพรรณและทรัพย์สินอื่นราคาประมาณ ๑,๐๐๐ บาท นางเกียวมีสินเดิม คือเครื่องทองรูปพรรณราคาประมาณ ๕๐๐ บาท ระหว่างอยู่กินกันได้ร่วมกันทำมาหาได้เกิดทรัพย์สมบัติหลายอย่างรวมเป็นเงิน ๑๗,๙๙๕,๖๙๐ บาท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ นางสังวาลย์ตาย ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างนางสังวาลย์อยู่กินกับนายขนจึงตกเป็นส่วนของนายชน ๒ ใน ๓ ส่วน ตกเป็นมรดกของนางสังวาลย์ ๑ ใน ๓ ส่วน คิดเป็นเงิน ๕,๙๙๘,๕๖๓ บาท ๓๓ สตางค์ มรดกของนางสังวาลย์ได้แก่ทายาทของนางสังวาลย์ คือ โจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๒ และนายขนเท่าๆ กัน คือคนละ ๑,๙๙๙,๕๒๑ บาท ๑๑ สตางค์ แต่มรดกนี้ยังมิได้แบ่งกัน นายชนได้ครอบครองไว้แทนโจทก์ที่ ๑, ที่ ๒ ทั้งโจทก์ที่ ๑, ที่ ๒ ก็ได้ครอบครองทรัพย์มรดกนั้นไว้ด้วย
เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๐๑ นายขนได้นำดอกผลที่เก็บได้จากทรัพย์มรดกของนางสังวาลย์และทรัพย์สินของนายขนไปซื้อที่ดินโฉนดที่ ๒๔๓๓ และ ๒๔๓๔ ตำบลคลอง ๑ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ราคา ๙๓,๗๒๕ บาท และ ๓๒,๐๗๕ บาทตามลำดับ โดยใส่ชื่อจำเลยที่ ๑ ในโฉนดที่ ๒๔๓๔ และใส่ชื่อจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ในโฉนดที่ ๒๔๓๓ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนนายขนและโจทก์ที่ ๑, ที่ ๒ โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในที่ดินทั้งสองแปลงนี้คนละประมาณ ๒๕,๑๖๐ บาท นายขนตายเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๔ โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ขณะตายนายขนมีทรัพย์สินคิดเป็นเงิน ๑๑,๙๙๗,๑๓๖ บาท ๖๗ สตางค์ และได้รับมรดกของนางสังวาลย์อีก ๑,๙๙๙,๕๒๑ บาท ๑๑ สตางค์ ทรัพย์ดังกล่าวตกได้แก่นางเกียว ๑ ใน ๓ ส่วน เป็นเงิน ๔,๖๖๕,๕๕๑ บาท ๓๙ สตางค์ ส่วนที่เหลือเป็นมรดกของนายขนตกได้แก่นางเกียว โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๕ และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ คนละเท่าๆ กัน คิดเป็นเงินคนละ ๑,๐๓๗,๕๗๕ บาท ๑๕ สตางค์ โจทก์ทั้งห้าได้ครอบครองทรัพย์มรดกดังกล่าวตลอดมาโดยยังมิได้มีการแบ่งทรัพย์มรดกกัน เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๕ นางเกียวตาย ทรัพย์สินของนางเกียวจำนวน ๔,๖๖๕,๕๕๑ บาท ๓๙ สตางค์ จึงตกได้แก่โจทก์ที่ ๓, ที่ ๔ และที่ ๕ คนละ ๑ ส่วน เป็นเงิน ๑,๕๕๕,๑๘๓ บาท ๘๐ สตางค์ และนางเกียวมีสิทธิรับมรดกนายขนอีก ๑,๐๓๗,๕๗๕ บาท ๑๕ สตางค์ โจทก์ที่ ๓ ถึงโจทก์ที่ ๕ จึงมีสิทธิรับมรดกส่วนนี้อีกคิดเป็นเงินคนละ ๓๔๕,๘๕๘ บาท ๗๒ สตางค์ โจทก์ที่ ๓ ถึงโจทก์ที่ ๕ จึงมีสิทธิรับมรดกของนางเกียวรวมเป็นเงินคนละ ๑,๙๐๑,๐๔๒ บาท ๕๒ สตางค์ รวมแล้วโจทก์ที่ ๑, ที่ ๒ จะได้รับมรดกรวมเป็นเงินคนละ ๓,๐๖๒,๒๕๖ บาท ๒๖ สตางค์ โจทก์ที่ ๓, ที่ ๔, ที่ ๕ ได้รับมรดกรวมเป็นเงินคนละ ๒,๙๖๓,๗๗๗ บาท ๖๗ สตางค์ โจทก์ทั้งห้าคนได้ติดต่อจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้แบ่งทรัพย์มรดก แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ยึดถือโฉนดที่ดินทรัพย์มรดกตลอดจนเอกสารสิทธิไว้ จึงขอให้จำเลยที่ ๒ ถึง ๔ แบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ทุกคนตามจำนวนเงินดังกล่าวข้างต้น ให้จำเลยทั้งสี่ส่งมอบโฉนดทรัพย์มรดกทุกแปลงและเอกสารสิทธิที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยแก่โจทก์เพื่อแบ่งทรัพย์มรดกต่อไป
จำเลยทั้งสี่ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์อ้างว่านายขนและนางสังวาลย์ร่วมทำมาหากินเกิดทรัพย์สินรวม ๑๗,๙๙๕,๖๙๐ บาท ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่านางสังวาลย์ตายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ จึงไม่ทราบว่าโจทก์ถือราคทรัพย์ในขณะใด ทรัพย์ตามฟ้องไม่มีอยู่จริงและไม่มีราคาตามที่โจทก์ตั้งมา ที่ดินโฉนดที่ ๒๔๓๓, ๒๔๓๔ เป็นที่ดินที่ซื้อโดยเงินส่วนที่เกิดจากจำเลยที่ ๒ (น่าจะเป็นจำเลยที่ ๑) ทำมาหาได้ร่วมกับนายขน ที่ดินทั้งสองแปลงนี้จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายขน ที่ดินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องรวม ๑๔ โฉนด และสิ่งปลูกสร้างตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับ ๗-๘ จะมีอยู่หรือไม่ จำเลยไม่ทราบ จำเลยยอมรับว่าโจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสี่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกร่วมกันมา หากทรัพย์มรดกมีอยู่จริงและอยู่ในความครอบครองของจำเลย จำเลยก็ยินดีแบ่งให้โจทก์ตามสิทธิ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ แบ่งที่ดินโฉนดที่ ๑๒๓, ๑๒๔, ๑๒๖, ๑๒๗ ตำบลคลองหกวา โฉนดที่ ๑๗๘, ๑๙๕, ๒๖๘๘, ๒๐๓, ๙๘๙, ๙๙๐, ๒๔๐, ๒๖๓ ตำบลคลองซอยที่ ๒ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โฉนดที่ ๘๔๐๘ ตำบลพยอม อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และบ้านที่นายขนอยู่เฉพาะที่เป็นมรดกส่วนของนางสังวาลย์ให้แก่โจทก์ที่ ๑, ที่ ๒ คนละ ๑ ส่วน และเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของนายขนให้แก่นางเกียว โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๕ และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ รวม ๙ คนๆ ละ ๑ ส่วน เฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของนางเกียวให้แก่โจทก์ที่ ๓ ถึงที่ ๕ คนละ ๑ ส่วน กับให้แบ่งที่ดินโฉนดที่ ๒๔๓๓, ๒๔๓๔ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ให้แก่โจทก์ทั้งห้าคนคนละ ๑ ส่วน ให้แบ่งสิ่งปลูกสร้างในที่ดินโฉนดที่ ๒๖๘๘, ๘๔๐๘ นอกจากบ้านที่นายขนอยู่พร้อมด้วยสังหาริมทรัพย์ในบ้านของนายขนให้แก่โจทก์ทั้งห้าคนและจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ คนละ ๑ ส่วน ให้จำเลยทั้งสี่มอบโฉนดทรัพย์มรดกทุกแปลงและเกสารสิทธิทั้งหลายเท่าที่มีอยู่ในความครอบครองของจำเลยแก่โจทก์เพื่อแบ่งทรัพย์มรดกกันต่อไป
จำเลยทุกคนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ แบ่งทรัพย์มรดกส่วนของนางสังวาลย์ให้แก่นายขนและโจทก์ที่ ๑, ที่ ๒ คนละ ๑ ส่วน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทุกคนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับมรดกของนางสังวาลย์เคลือบคลุม เพราะโจทก์มิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าในขณะที่นางสังวาลย์ตายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ สินสมรสระหว่างนายขนและนางสังวาลย์มีอยู่เท่าใดนั้น เห็นว่าสำหรับปัญหาฟ้องเคลือบคลุมแม้จำเลยจะได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยก็มิได้ยกปัญหาข้อนี้ต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้น จำเลยจะกลับมายกปัญหานี้ขึ้นอ้างในศาลฎีกาอีกมิได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ และศาลฎีกาพิพากษายืน