คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1178/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ประมวลรัษฎากร มาตรา 103 จะให้ความหมายของคำว่า “ขีดฆ่า” ว่า “การกระทำเพื่อมิใช้แสตมป์ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับได้ลงลายมือชื่อ หรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษและลงวัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย ฯลฯ”ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่า ความมุ่งหมายขอคำว่า “ขีดฆ่า” นั้น ก็เพื่อจะให้แสตมป์ที่ปิดทับเอกสารนั้นใช้ไม่ได้ต่อไปเท่านั้น มาตรา 103 จึงให้ความหมายไว้ในตอนแรกว่า เป็นการกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก ส่วนข้อความตอนต่อไปนั้นเป็นเพียงการอธิบายเพิ่มเติมวิธีกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีกเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อได้กระทำการใด ๆ ให้แสตมป์นั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แม้จะมิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามข้อความที่อธิบายเพิ่มเติมไว้ก็ถือได้ว่าเป็นการขีดฆ่าตามความหมายของมาตรา 103 ที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับคำว่า ขีดฆ่า นั้นแล้ว
การขีดฆ่าอากรแสตมป์ที่ปิดบนเอกสารสัญญากู้ด้วยหมึกเพื่อมิให้อากรแสตมป์นั้นใช้ไดอีกต่อไป เป็นการขีดฆ่าที่ชอบแล้ว แม้จะมิได้ลงวัน เดือน ปี ที่ขีดฆ่าก็ถือว่า สัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องนี้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง
แม้โจทก์จะไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่ทำสัญญากู้เพราะดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นโมฆะก็ตาม แต่จำเลยต้งอรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไปในต้นเงินกู้ให้โจทก์ในระหว่างที่จำเลยผิดนัดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 224 และเมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีได้มีการผิดนัด จำเลยจึงต้องชดใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2519)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไปสองครั้ง และสัญญาให้ดอกเบี้ยร้อยละ ๓ และ ๕ ต่อเดือนตามลำดับ ตามสัญญากู้ท้ายฟ้อง ตั้งแต่กู้ไปจำเลยไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เลย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๗ บาท ๕๐ สตางค์ ต่อปี ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตั้งแต่วันกู้จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่าดอกเบี้ยตามสัญญากู้ทั้งสองฉบับเป็นโมฆะ หนังสือสัญญากู้ฉบับแรกได้ทำไว้จริง แต่เป็นหนังสือรับเงินมัดจำล่วงหน้าในการที่จำเลยขายที่ดินให้แก่โจทก์ ส่วนสัญญากู้ฉบับหลังจำเลยไม่ได้กู้ ลายมือชื่อในช่องผู้กู้ไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยใช้ต้นเงินและดอกเบี้ย และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ดอกเบี้ยทั้งหมดเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี และสัญญากู้ทั้งสองฉบับปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ พิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่าที่โจทก์ขอมา นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้ไว้จริง ลายมือชื่อในสัญญากู้เป็นลายมือชื่อของจำเลย ที่จำเลยฎีกาว่าสัญญากู้ทั้งสองฉบับได้ปิดอากรแสตมป์และมีเพียงรอยหมึกขีดฆ่าเท่านั้น มิได้ลงวันที่ที่ขีดฆ่าด้วย ไม่เป็นการขีดฆ่าที่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๐๓ จึงเป็นการปิดแสตมป์ไม่บริบูรณ์ จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๘ แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้ประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๐๓ จะให้ความหมายของคำว่า “ขีดฆ่า” ว่า “การกระทำเพื่อมิใช้แสตมป์ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับได้ลงลายมือชื่อ หรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษและลงวัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย ฯลฯ”ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่า ความมุ่งหมายขอคำว่า “ขีดฆ่า” นั้น ก็เพื่อจะให้แสตมป์ที่ปิดทับเอกสารนั้นใช้ไม่ได้ต่อไปเท่านั้น มาตรา ๑๐๓ จึงให้ความหมายไว้ในตอนแรกว่า เป็นการกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก ส่วนข้อความตอนต่อไปนั้นเป็นเพียงการอธิบายเพิ่มเติมวิธีกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีกเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อได้กระทำการใด ๆ ให้แสตมป์นั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แม้จะมิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามข้อความที่อธิบายเพิ่มเติมไว้ก็ถือได้ว่าเป็นการขีดฆ่าตามความหมายของมาตรา ๑๐๓ ที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับคำว่า ขีดฆ่า นั้นแล้ว การขีดฆ่าอากรแสตมป์ที่ปิดบนเอกสารสัญญากู้ด้วยหมึกเพื่อมิให้อากรแสตมป์นั้นใช้ไดอีกต่อไป เป็นการขีดฆ่าที่ชอบแล้ว แม้จะมิได้ลงวัน เดือน ปี ที่ขีดฆ่าก็ถือว่า สัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องนี้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘ ที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง และวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ด้วยว่า แม้โจทก์จะไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตั้งแต่ทำสัญญากู้เพราะดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นโมฆะก็ตาม แต่จำเลยต้งอรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไปในต้นเงินกู้ให้โจทก์ในระหว่างที่จำเลยผิดนัดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๔ และเมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีได้มีการผิดนัด จำเลยจึงต้องชดใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
พิพากษายืน

Share