แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดร่วมกันตัดฟันต้นไม้ของผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ จำเลยทั้งแปดให้การต่อสู้ว่าต้นไม้ตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ 8 จำเลยที่ 8 เป็นผู้ว่าจ้างวานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ตัดฟัน ศาลชั้นต้นฟังว่าต้นไม้นั้นเป็นของผู้เสียหาย พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 8 แต่เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 สำคัญผิดในข้อเท็จจริง จึงให้ปล่อยตัวพ้นข้อหาไป โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้สำคัญผิดในข้อเท็จจริง จำเลยที่ 8 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาแต่เฉพาะจำเลยที่ 8 เห็นว่า คดีฟังไม่ได้ว่าต้นไม้ที่จำเลยตัดฟันเป็นของผู้เสียหาย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 8 ด้วย โดยไม่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ ดังนี้ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาโดยไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความ ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งแปดได้บังอาจร่วมกันตัดฟันต้นยางพาราและต้นเนียงอันเป็นการทำให้เสียหายซึ่งพืชผลของกสิกรขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การว่า จำเลยทั้งแปดได้เข้าไปตัดฟันต้นไม้ตามฟ้องจริง โดยจำเลยที่ ๘ เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ถึง ๗ เข้าไปตัดฟัน แต่ต่อสู้ว่าที่ดินและตนไม้ที่ตัดฟันเป็นของจำเลยที่ ๘
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ เข้าใจว่าต้นไม้ที่ตัดฟันเป็นของจำเลยที่ ๘ จึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริง ทั้งไม่มีเจตนาที่จะตัดฟันต้นไม้ของผู้เสียหาย จึงได้รับการยกเว้นโทษ ส่วนจำเลยที่ ๘ ได้ใช้และจ้างจำเลยที่ ๑ ถึง ๗ และร่วมกระทำผิดด้วย จึงมีความผิด พิพากษาว่าจำเลยที่ ๘ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๙ จำคุกสองปี ให้ปล่อยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ พ้นข้อหาไป
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๘ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วฟังไม่ได้ว่าต้นยาง ต้นเนียง ต้นสะตอ ที่จำเลยที่ ๘ ใช้จ้างวานให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๗ ตัดฟันนั้น เป็นต้นยางของผู้เสยหาย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๘ ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ เพราะศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้พิพากษา และขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๘ ด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์คัดค้านพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นบุตรของจำเลยที่ ๘ ได้อยู่ร่วมใกล้ชิดกันตลอดมา จำเลยที่ ๑ ได้รู้ถึงความเป็นมาแห่งที่ดินและความเป็นมาแห่งทรัพย์อันเป็นมูลคดีนี้แล้ว เมื่อศาลชั้นต้นฟังว่าต้นยางและต้นเนียงเป็นของผู้เสียหาย จำเลยที่ ๑ ย่อมไม่มีทางที่จะสำคัญผิดในข้อเท็จจริง จึงเป็นการกระทำผิดตามฟ้องโจทก์ ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ด้วย ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาแต่เฉพาะจำเลยที่ ๘ โดยไม่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวแล้ว จึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความ
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามรูปคดี