คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการจัดซื้อที่ดินเพื่อขยายถนนสุขุมวิทจากกรุงเทพฯ – ตราด ตอนศรีราชา – สัตหีบ กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาค่าทำขวัญให้แก่ เจ้าของทรัพย์สิน และที่ดินโดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาปรองดองค่าทำขวัญกับเจ้าของทรัพย์ และที่ดินเพื่อการก่อสร้างดังกล่าวได้ด้วย เมื่อต่อมาคณะกรรมการปรองดองชุดนี้ได้ตีราคาที่ดินในโซนที่ดินพิพาท เสนอกรมทางหลวง จำเลย ซึ่งเป็นราคาที่ดินปานกลาง และจำเลยเห็นชอบด้วยและอนุมัติให้ดำเนินการได้ จนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทกับผู้รับมอบอำนาจช่วงจากจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาแบ่งขายที่ดินพิพาทกันตามราคาปานกลางดังกล่าว และคณะกรรมการปรองดองกับโจทก์ยังได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมในเรื่องค่าทดแทนที่ดินพิพาทดังกล่าวนี้ไว้อีกด้วย ต้องถือว่า คณะกรรมการปรองดองเป็นตัวแทนของจำเลย จำเลยจึงต้องผูกพันตามนั้น จำเลยจะอ้างระเบียบการภายในมาปฏิเสธความผูกพันและความรับผิดไม่ได้ และการที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาแบ่งขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ไปก็มิใช่เป็นการฉ้อฉลหรือเกินกว่าขอบอำนาจที่จำเลยได้มอบหมายให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ตกลงซื้อที่ดินมีโฉนดจากโจทก์ซึ่งอยู่ที่ตำบลสุรศักดิ์ (ศรีราชา) อำเภอศรีราชา (บางพระ) จังหวัดชลบุรี เฉพาะส่วนที่ติดถนนสุขุมวิท (สายกรุงเทพฯ – ตราด) เป็นเนื้อที่ ๖ ไร่ ๒ งาน ๖๕ ตารางวา เป็นราคา ๖๖๖,๒๕๐ บาท เพื่อใช้ขยายถนนสุขุมวิท ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันแล้ว แต่จำเลยยังมิได้ชำระราคา ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เกี่ยวกับที่ดินพิพาททางราชการได้ประเมินราคาสูงสุดไว้ไร่ละไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่สำหรับที่ดินของโจทก์เมื่อพิจารณาถึงสภาพและทำเล โดยเปรียบเทียบกับที่ดินข้างเคียงที่จำเลยซื้อไว้แล้ว มีราคาไม่เกินไร่ละ ๗๐,๐๐๐ บาท ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ ๖ ไร่ ๒ งาน ๖๕ ตารางวา จึงมีราคาเพียง ๔๖๖,๓๗๕ บาท ซึ่งจำเลยยอมคิดราคาให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมรับ จึงยังมิได้ชำระกัน แต่จำเลยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงได้เข้าครอบครองทำถนนในที่ดินพิพาทไปแล้ว การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยทำกันไม่ถูกต้อง เพราะมิได้เป็นไปตามระเบียบ โดยโจทก์กับผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว จึงได้มาขอทำความตกลงเรื่องราคากับคณะกรรมการปรองดองในราคา ๖๖๖,๓๗๕ บาท ภายหลังซึ่งจำเลยยังมิได้อนุมัติให้ซื้อในราคาดังกล่าว เพราะถือว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ เป็นการฉ้อฉลและไม่สุจริต จำเลยจึงไม่ผูกพันที่จะต้องชำระราคาตามสัญญานั้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทไม่ผูกมัดจำเลยในเรื่องราคาที่ดินไร่ละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท พิพากษาให้จำเลยใช้ราคาที่ดินตามที่จำเลยอนุมัติในราคาไร่ละ ๗๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ โดยโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยเพราะโจทก์ไม่ยอมรับเอง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยจะอ้างเรื่องผิดระเบียบ หรือจำเลยยังไม่ได้อนุมัติเป็นเหตุปฏิเสธสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทได้หรือไม่ พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระเงิน ๖๖๖,๒๕๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยฎีกาขอให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ในการจัดซื้อที่ดินเพื่อขยายถนนสุขุมวิทจากกรุงเทพฯ – ตราด ตอนศรีราชา – สัตหีบ กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติได้มีคำสั่งที่ ๘๕/๒๕๑๔ ลงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๑๔ แต่งตั้งคณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาค่าทำขวัญให้แก่เจ้าของทรัพย์สิน โดยให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาปรองดองค่าทำขวัญกับเจ้าของทรัพย์เพื่อการก่อสร้างดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.๔ คณะกรรมการปรองดองประกอบด้วย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี นายอำเภอศรีราชาและช่างโทหัวหน้างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประจำเขตการทางฉะเชิงเทราซึ่งมีนายภาสน์ ภวมัยนายช่างเอกเป็นกรรมการ ก่อนเดือนมกราคม ๒๕๑๖ คณะกรรมการปรองดองชุดนี้ได้ตีราคาที่ดินในโซนที่ดินพิพาทเสนอกรมทางหลวงในราคาไร่ละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นราคาปานกลาง และกรมทางหลวงก็ได้เห็นชอบด้วยแล้วจึงได้อนุมัติให้ดำเนินการไปได้ ต่อมาในวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๖ โจทก์กับจำเลยโดยนายภาสน์ ภวมัยผู้รับมอบอำนาจช่วง ได้ทำหนังสือสัญญาแบ่งขายที่ดินพิพาทกัน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี ในราคา ๖๖๖,๒๕๐ บาทตามเอกสารหมาย จ.๒ ครั้นในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖
คณะกรรมการปรองดองกับโจทก์จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมในเรื่องค่าทดแทนที่ดินพิพาทกัน โดยโจทก์ยินยอมรับค่าทดแทนในอัตราไร่ละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๖๖๖,๒๕๐ บาท ตามเอกสารหมาย ล.๓ ซึ่งราคาที่ดินยังคงเป็นไปตามหนังสือสัญญาแบ่งขายที่ดินพิพาทดังกล่าว และในวันที่โจทก์กับคณะกรรมการปรองดองทำบันทึกข้อตกลงค่าทดแทนที่ดินพิพาทดังกล่าวก็ได้มีบันทึกของเลขานุการคณะกรรมการปรองดองเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทไว้ว่า “ขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว คณะกรรมการฯ จะจ่ายให้เมื่อได้รับอนุมัติจากกรมทางหลวง” ตามเอกสารหมาย ล.๔ แต่แล้วกรมทางหลวงจำเลยเห็นว่าราคาที่ดินพิพาทสูงเกินไป ควรมีราคาเพียงไร่ละ ๗๐,๐๐๐ บาท จึงไม่ยอมจ่ายตามที่โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามโดยอ้างว่าเป็นการผิดระเบียบของกรมทางหลวงซึ่งมีว่า คณะกรรมการปรองดองจะตกลงราคาปรองดองที่ดินกันเรียบร้อยเสียก่อน จึงจะโอนซื้อขายกันได้ซึ่งตามระเบียบนี้เป็นเพียงทางปฏิบัติไม่มีเป็นลายลักษณ์อักษร ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อทางกระทรวงเจ้าสังกัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการปรองดองขึ้นแล้ว อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาปรองดองค่าทำขวัญกับราคาของทรัพย์สินย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปรองดองโดยถือว่าคณะกรรมการปรองดองเป็นตัวแทนของกรมทางหลวง ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการปรองดองได้ทำความตกลงกับโจทก์ให้ค่าทดแทนที่ดินพิพาทในอัตราไร่ละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นราคาปานกลางและยังคงเป็นไปตามราคาที่ทำหนังสือสัญญาแบ่งขายที่ดินแล้ว กรมทางหลวงจำเลยจึงต้องผูกพันตามนั้น กรมทางหลวงจำเลยจะอ้างระเบียบการภายในมาปฏิเสธความผูกพันและความรับผิดไม่ได้ กรมทางหลวงจำเลยคงมีหน้าที่ที่จะดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้โจทก์ไปตามระเบียบซึ่งมีว่า ภายในวงเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท เป็นอำนาจของกรมทางหลวงเป็นผู้อนุมัติได้เอง แต่ถ้าวงเงินเกินกว่า ๒๕๐,๐๐๐ บาท แล้วก็เป็นอำนาจของกระทรวงที่จะอนุมัติ ฉะนั้นการที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงของจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาแบ่งขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ไปจึงไม่เป็นการฉ้อฉลหรือเกินกว่าขอบอำนาจที่จำเลยได้มอบหมายดังที่จำเลยฎีกา จำเลยจึงต้องผูกพันตามหนังสือสัญญาแบ่งขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.๒ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้องมานั้น จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขั้น
พิพากษายืน

Share