คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2969/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสี่ปรึกษากันจะปล้นรถที่ผ่านมา แล้วจอดรถรออยู่เมื่อผู้เสียหายขับรถมาถึง จำเลยที่ 1 ยืนส่องไฟฉายให้รถหยุดผู้เสียหายถามว่ารถเป็นอะไร จำเลยที่ 1 แกล้งบอกว่าไฟช้อตแล้วกระโดดขึ้นรถของจำเลยและขับหนีไปก่อน โดยร้องตะโกนบอกจำเลยที่ 2, 3 และ 4 ว่า จัดการให้เรียบร้อย จำเลยที่ 2, 3 และ 4 ก็จับผู้เสียหายกับพวกที่มาด้วยมัดแล้วยิง พวกผู้เสียหายถูกยิงตายหมด แล้วจำเลยที่ 2, 3, 4 ก็เอารถไป การปล้นทรัพย์รายนี้เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำการปล้นในระยะแรก แม้มิได้อยู่ด้วยในขณะที่จำเลยอื่นฆ่าเจ้าทรัพย์กับพวกจำเลยที่ 1 ก็ต้องมีความผิดตามวรรคท้ายของมาตรา 340 แห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่รับอนุญาต และร่วมกันปล้นทรัพย์กับฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าทรัพย์กับพวกโดยเจตนาฆ่า เพื่อปกปิดการกระทำผิดและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดฐานปล้นทรัพย์ และเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วยความทารุณโหดร้าย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐, ๘๓, ๒๘๙, ๓๔๐ กับพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้คนตายฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าทรัพย์โดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองไม่รับอนุญาต พิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามบทมาตราที่อ้างท้ายฟ้อง แต่ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๙, ๘๓ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดให้ประหารชีวิต
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ ๒, ๓ และ ๔ อุทธรณ์ขอให้ลดโทษและลดมาตราส่วนโทษ
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ ๑ ร่วมกันกับจำเลยที่ ๒, ๓ และ ๔ ปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย แต่จำเลยที่ ๑ มิได้ร่วมฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าทรัพย์กับพวกและคดีไม่มีเหตุลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษ พิพากษาแก้ว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๒ประกอบด้วยมาตรา ๓ จำคุก ๑๕ ปี จำเลยที่ ๒, ๓, ๔ มีความผิดตามมาตรา ๓๔๐ วรรคท้าย มาตรา ๒๘๙(๗) และมาตรา ๒๘๙(๗), ๘๐ ให้ลงโทษประหารชีวิต นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและฎีกาว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มีความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าทรัพย์โดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วย
จำเลยทั้งสี่ฎีกาทำนองเดียวกับที่อุทธรณ์
ในประเด็นว่า จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒, ๓ และ ๔ ทำการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสี่ได้ปรึกษากันว่าจะทำการจี้เอารถ แล้วจำเลยที่ ๑ จอดรถรอรถที่จะผ่านมาก่อนทำการปล้น เมื่อนายวิสูตรขับรถผ่านมา จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ส่องไฟฉายให้รถหยุดนายวิสูตรจึงหยุดรถและถามว่ารถเป็นอะไร จำเลยที่ ๑ บอกว่าไฟช้อต ทั้ง ๆ ที่รถไม่ได้เสีย แล้วจำเลยที่ ๑ ปิดฝากระโปรงหน้ารถ กระโดดขึ้นรถคันขาวจำเลยและขับหนีไป โดยจำเลยที่ ๑ ร้องตะโกนบอกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งยังคงอยู่ณ ที่นั้นว่า จัดการให้เรียบร้อย จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ได้ใช้อาวุธปืนจี้บังคับขู่เข็ญเจ้าทรัพย์กับพวก แล้วใช้เชือกมัดรวมกันไว้และใช้อาวุธปืนยิงเจ้าทรัพย์กับพวกถึงแก่ความตาย ส่วนนายวิสูตรเจ้าทรัพย์อีกคนหนึ่งถูกกระสุนปืนได้รับบาดเจ็บแล้วจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ได้ร่วมกันเอาทรัพย์ของเจ้าทรัพย์และรถยนต์บรรทุกและข้าวสารที่อยู่ในรถไป แล้ววินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ปล้นทรัพย์นั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรค ๒ นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะการปล้นทรัพย์รายนี้มีเหตุฉกรรจ์ตามวรรคท้ายของมาตรา ๓๔๐ ประกอบด้วยคือการปล้นทรัพย์รายนี้เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้ที่เป็นตัวการร่วมการปล้นทรัพย์ย่อมต้องมีความผิดตามวรรคท้ายนี้ด้วยทุกคน แม้คดีนี้จำเลยที่ ๑ ได้ร่วมทำการปล้นทรัพย์ในระยะแรกและมิได้อยู่ด้วยในขณะที่จำเลยอื่นฆ่าเจ้าทรัพย์กับพวก จำเลยที่ ๑ ก็ต้องรับผิดฐานปล้นทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
(สำหรับประเด็นอื่น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์)
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคท้าย ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share