คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2869/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะอยู่ในชั้นตรวจคำฟ้อง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นต้นรับชำระคดี ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า หากโจทก์จะฎีกาต้องยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกาซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ ไม่อาจนำบทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับได้ การที่อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองฎีกาของโจทก์ว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย เป็นการรับรองให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 มิใช่การยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา เมื่อโจทก์ยื่นฎีกาโดยมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาของโจทก์ไว้วินิจฉัย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 8 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7104/2551 ของศาลจังหวัดพัทยา และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2701/2551 ของศาลจังหวัดชลบุรี
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยอยู่ที่จังหวัดระยองและจังหวัดชลบุรี ยากที่จำเลยจะนำสืบพิสูจน์ต่อสู้คดี ทั้งการดำเนินคดีอาจล่าช้าและไม่สะดวก จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ด้วยการจัดหาและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 8 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด จึงเป็นการฟ้องคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะอยู่ในชั้นตรวจคำฟ้อง ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์โดยมิได้มีการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นต้นรับชำระคดี ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดย่อมอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 15 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ และมาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องของโจทก์แล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้นย่อมเป็นที่สุด หากโจทก์จะฎีกาต้องยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ ไม่อาจนำบทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับได้ การที่อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองฎีกาของโจทก์ว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย เป็นการรับรองให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 มิใช่การยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา เมื่อโจทก์ยื่นฎีกาโดยมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาของโจทก์ไว้วินิจฉัย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของโจทก์

Share