แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายให้เข้าใจว่าจำเลยที่ 1 จงใจไม่เก็บรักษาสิ่งอุปกรณ์อย่างไร จำเลยที่ 1 รับสิ่งอุปกรณ์มาจำนวนเท่าใด จากใคร เมื่อใด และสิ่งอุปกรณ์ได้สูญหายหรือขาดบัญชีไปอย่างไร แต่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ในชั้นสืบพยาน โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งถึงการแบ่งและมอบอำนาจหน้าที่ของฝ่ายพลาธิการที่จำเลยที่ 1 สังกัดอยู่ ประกอบกับโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏในมูลเหตุแห่งกรณีและรายละเอียดแห่งข้อหาอันเป็นหลักแห่งฐานความผิด เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลงต่อสู้คดีและเสียเปรียบ ดังนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นคนละเรื่องกับที่จำเลยที่ 1 ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อพ้นระยะเวลา 10 ปี หลังเกิดการละเมิด คดีจึงขาดอายุความ แต่เหตุที่อ้างว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ว่าจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นคนละประเด็นกับที่จำเลยที่ 1 ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำสั่งกองทัพบกโจทก์ได้กำหนดหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะพลาธิการจังหวัดทหารบกขอนแก่นเกี่ยวกับสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการไว้ แต่เมื่อคำสั่งจังหวัดทหารบกขอนแก่น อันเป็นคำสั่งภายในหน่วยงานของจำเลยที่ 1 กำหนดหน้าที่เกี่ยวกับสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการให้เป็นของผู้ช่วยพลาธิการจังหวัดทหารบกขอนแก่นเสียแล้วย่อมเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมดูแลเกี่ยวกับสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่และมิได้ปฏิบัติงานในหน้าที่เกี่ยวกับสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการแล้ว การปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่ออันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ส่วนปัญหาที่ว่าคำสั่งดังกล่าวขัดหรือแย้งกันจะใช้บังคับได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจังหวัดทหารบกขอนแก่น ไม่เกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ความเสียหายของโจทก์จึงมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดทำให้สิ่งอุปกรณ์ของโจทก์สูญหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งพลาธิการจังหวัดทหารบกขอนแก่น ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยงานพลาธิการ จังหวัดทหารบกขอนแก่น มีหน้าที่อำนวยการกำหนดนโยบาย รับ เก็บรักษา แจกจ่าย สิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการ วางแผนการปฏิบัติการจัดหา เก็บรักษา และแจกจ่ายสิ่งอุปกรณ์ สายพลาธิการของหน่วยงานพลาธิการจังหวัดทหารบกขอนแก่น ตลอดจนมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในสายงานเพื่อมิให้สิ่งอุปกรณ์ของโจทก์สูญหายหรือเสียหายจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคลังสิ่งอุปกรณ์ในหน่วยงานพลาธิการจังหวัดทหารบกขอนแก่น มีหน้าที่รับ เก็บรักษา และจ่ายสิ่งอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยปลอดภัย และครบถ้วนถูกต้องตามบัญชีหรือทะเบียน และให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 และระเบียบคำสั่งของโจทก์ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่พัสดุลงบัญชีหรือทะเบียนเพื่อควบคุมพัสดุแยกเป็นชนิดและแสดงรายการเป็นหลักฐานรับเข้าบัญชีหรือทะเบียนไว้ การจ่ายพัสดุต้องตรวจสอบความถูกต้องของใบเบิกและเอกสารประกอบแล้วลงบัญชีหรือทะเบียนทุกครั้ง และเก็บใบเบิกจ่ายไว้เป็นหลักฐานระหว่างเดือนสิงหาคม 2527 ถึงเดือนพฤษภาคม 2529 จำเลยที่ 2ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 และระเบียบคำสั่งของโจทก์ ปล่อยปละละเลยไม่เก็บรักษาสิ่งอุปกรณ์ประเภทเครื่องแต่งกายเครื่องนอน เครื่องเขียน (สป. 2 ถึง 4) ให้ปลอดภัยครบถ้วน การจ่ายสิ่งอุปกรณ์ในคลังไม่ตรวจสอบความถูกต้องของใบเบิกและเอกสารประกอบ ไม่ลงบัญชีทุกครั้งที่มีการจ่ายสิ่งอุปกรณ์ไม่เก็บใบเบิกจ่ายไว้เป็นหลักฐาน ไม่ลงบัญชีคงเหลือและไม่ตรวจสอบว่าสิ่งอุปกรณ์ครบถ้วนหรือไม่ ทำให้สิ่งอุปกรณ์สูญหายขาดบัญชีโดยไม่ปรากฏหลักฐานการเบิกจ่าย 37 รายการ คิดเป็นเงิน 1,436,298.97 บาท จำเลยที่ 1 ในฐานะพลาธิการจังหวัดทหารบกขอนแก่น ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการเก็บรักษา การเบิกจ่ายสิ่งอุปกรณ์ของจำเลยที่ 2 ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบการเก็บรักษาและการเบิกจ่ายสิ่งอุปกรณ์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรง เป็นเหตุให้สิ่งอุปกรณ์ของโจทก์สูญหายจึงต้องร่วมรับผิดด้วย โจทก์ทราบถึงการละเมิดและบุคคลที่ต้องรับผิดเมื่อวันที่ 27ธันวาคม 2537 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน1,436,298.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการเก็บรักษาแจกจ่ายสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการ (สป. 2 ถึง 4) เนื่องจากเป็นหน้าที่ของผู้ช่วยพลาธิการจังหวัดทหารบกขอนแก่น ตามคำสั่งจังหวัดทหารบกขอนแก่น ที่ 57/2519 ความเสียหายเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 1 จะดำรงตำแหน่งพลาธิการจังหวัดทหารบกขอนแก่นฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์ไม่บรรยายให้เข้าใจว่า จำเลยที่ 1 จงใจไม่เก็บรักษาสิ่งอุปกรณ์อย่างไร จำเลยที่ 1 รับสิ่งอุปกรณ์มาจำนวนเท่าใด จากใครเมื่อใดสิ่งอุปกรณ์ได้สูญหายหรือขาดบัญชีไปอย่างไร และมูลเหตุแห่งความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดตามฟ้องได้เกิดขึ้นเป็นเวลาก่อน 10 ปี แล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อพ้นระยะเวลา 10 ปี หลังเกิดการละเมิด คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน1,436,298.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น จำเลยที่ 1 ให้การในประเด็นข้อนี้ไว้ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายให้เข้าใจว่าจำเลยที่ 1 จงใจไม่เก็บรักษาสิ่งอุปกรณ์อย่างไร จำเลยที่ 1 รับสิ่งอุปกรณ์มาจำนวนเท่าใดจากใคร เมื่อใด และสิ่งอุปกรณ์ได้สูญหายหรือขาดบัญชีไปอย่างไรแต่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าในชั้นสืบพยาน โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งถึงการแบ่งและมอบอำนาจหน้าที่ของฝ่ายพลาธิการที่จำเลยที่ 1 สังกัดอยู่ ประกอบกับโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏในมูลเหตุแห่งกรณีและรายละเอียดแห่งข้อหาอันเป็นหลักแห่งฐานความผิด เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลงต่อสู้คดีและเสียเปรียบ ดังนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นคนละเรื่องกับที่จำเลยที่ 1ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดของจำเลยที่ 1 และรู้ว่าจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ให้การว่า มูลเหตุแห่งความเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดตามฟ้องได้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้ว โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อพ้นระยะเวลา 10 ปี หลังเกิดการละเมิดคดีจึงขาดอายุความดังนี้ เห็นได้ว่าเหตุที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามฎีกาเป็นคนละประเด็นกับที่จำเลยที่ 1 ให้การไว้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในการใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ในปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ระหว่างเดือนสิงหาคม 2527 ถึงเดือนพฤษภาคม 2529 จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งพลาธิการจังหวัดทหารบกขอนแก่น จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคลังสิ่งอุปกรณ์ประเภทเครื่องแต่งกาย เครื่องนอน และเครื่องเขียน (สป.2 ถึง 4) ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุในหน่วยงานพลาธิการจังหวัดทหารบกขอนแก่น มีหน้าที่รับเก็บรักษาและจ่ายสิ่งอุปกรณ์ของโจทก์ให้เรียบร้อย ปลอดภัย ครบถ้วนถูกต้องตามบัญชีหรือทะเบียน และให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521ตลอดจนระเบียบหรือคำสั่งของโจทก์แต่จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้สิ่งอุปกรณ์ (สป. 2 ถึง 4) ของโจทก์ที่เก็บรักษาไว้ในคลังเก็บสิ่งอุปกรณ์ของพลาธิการจังหวัดทหารบกขอนแก่นสูญหายขาดบัญชีไปโดยไม่ปรากฏหลักฐานการเบิกจ่าย รวม 37 รายการ คิดเป็นเงิน 1,436,298.97 บาท คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ได้ความตามสำเนาคำสั่งกองทัพบก (คำสั่งชี้แจง) ที่ 38/23480 เอกสารหมาย จ.1 ว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะนายทหารฝ่ายพลาธิการ มีหน้าที่ทั่วไปคือ อำนวยการในเรื่องการกำหนดนโยบาย การรับ เก็บรักษา แจกจ่าย สิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการ และอำนวยการในเรื่องการปฏิบัติการในหน้าที่ของพลาธิการอื่น ๆ เกี่ยวกับกิจการทางการช่วยรบ กับมีหน้าที่เฉพาะอีก 5 ประการ คือ ประการที่ 3 วางแผนการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดหา เก็บรักษา และแจกจ่ายสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการ และประการที่ 5 ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารพลาธิการที่จัดประจำหน่วยในหน่วยหนึ่ง ขึ้นสมทบหน่วยใดหน่วยหนึ่งและได้ความตามสำเนาคำสั่งจังหวัดทหารบกขอนแก่นที่ 57/2519 เรื่องแบ่งมอบงานในหน้าที่สายพลาธิการจังหวัดทหารบกขอนแก่นเอกสารหมาย ล.1 ว่า ภารกิจในเรื่องกำหนดความต้องการสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการ ตลอดจนการจัดหา เก็บรักษา และแจกจ่าย และกำหนดความต้องการ เก็บรักษา และจำหน่าย สป.3 นั้น เป็นภารกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ช่วยพลาธิการจังหวัดทหารบกขอนแก่นทั้งคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.1 และคำสั่งตามเอกสารหมาย ล.1 ต่างยังมีผลบังคับใช้อยู่ในขณะที่สิ่งอุปกรณ์ของโจทก์สูญหาย ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ตามคำสั่งเอกสารหมาย จ.1จะกำหนดหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการไว้ก็ตาม แต่เมื่อคำสั่งเอกสารหมาย ล.1 อันเป็นคำสั่งภายในหน่วยงานของจำเลยที่ 1 กำหนดหน้าที่เกี่ยวกับสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการให้เป็นของผู้ช่วยพลาธิการจังหวัดทหารบกขอนแก่นเสียแล้วย่อมเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับมอบหมายให้ควบคุมดูแลเกี่ยวกับสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการหากจำเลยที่ 1 ยังสอดเข้าไปควบคุมดูแลย่อมเป็นการขัดต่อคำสั่งเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเป็นคำสั่งของผู้บังคับการจังหวัดทหารบกขอนแก่นอันเป็นผู้บังคับบัญชาในเบื้องต้น ทั้งตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 1ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในการรับ เก็บรักษา และแจกจ่ายสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่และมิได้ปฏิบัติงานในหน้าที่เกี่ยวกับสิ่งอุปกรณ์สายพลาธิการแล้วการปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่ออันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนปัญหาที่ว่าคำสั่งเอกสารหมาย ล.1ขัดหรือแย้งกับคำสั่งเอกสารหมาย จ.1 จะใช้บังคับได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจังหวัดทหารบกขอนแก่นซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของโจทก์เอง ไม่เกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ความเสียหายของโจทก์จึงมิได้เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4