แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ผู้ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบ(ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ)ต้องเป็นเจ้าของอันแท้จริงในทรัพย์สินนั้น เมื่อผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าซื้อไม่ใช่เจ้าของแท้จริง จึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งคืนรถยนต์ของกลางให้ผู้ร้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๑๖ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับพวกได้บังอาจร่วมกันมีไม้ตะเคียนทองและไม้ยางนาแปรรูปเป็นแผ่นมีปริมาตรรวมทั้งสิ้น ๓.๑๕ ลูกบาศก์เมตร อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในความครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ตามประกาศซึ่งจำเลยทราบแล้ว โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยไม้แปรรูปดังกล่าว และรถยนต์บรรทุกยี่ห้ออีซูซุคันหมายเลขทะเบียน น.น. ๐๐๐๖๖ ของนายสมบูรณ์ พันธุ์แก้วนายจ้างของจำเลยที่ ๒ อันเป็นยานพาหนะซึ่งจำเลยทั้งสองกับพวกได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการบรรทุกไม้แปรรูปดังกล่าวเป็นของกลาง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘, ๗๓, ๗๔, ๗๔ ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๗, ๑๘ พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔ บัญชีที่ ๑ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว อันดับ ๔๘ และ ๑๑๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑๖ ข้อ ๔ ให้ปรับลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับคนละ ๑,๐๐๐ บาท ริบไม้และรถยนต์บรรทุกของกลาง
ต่อมานายสมบูรณ์ พันธุ์แก้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถยนต์บรรทุกยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน น.น. ๐๐๐๖๖ ของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นเป็นของผู้ร้อง จำเลยที่ ๒ ลักลอบเอารถยนต์ของกลางดังกล่าวไปรับจ้างบรรทุกไม้หวงห้ามให้จำเลยที่ ๑ โดยผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจเกี่ยวข้องในการกระทำผิดครั้งนี้เลย ขอให้คืนรถยนต์บรรทุกของกลางดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ร้องมิได้รู้เห็นกับจำเลยในการนำรถยนต์ของกลางไปกระทำผิด จึงมีคำสั่งให้คืนรถยนต์บรรทุกของกลางให้ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องเช่าซื้อรถยนต์ของกลางจากนายสั้นชำระค่าเช่าซื้อยังไม่หมด ยังไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์รายนี้ตามกฎหมายรถยนต์ของกลางยังเป็นของนายสั้นผู้ให้เช่าซื้อ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งคืนรถยนต์ของกลางให้ผู้ร้องพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกาขอให้คืนรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การริบทรัพย์เป็นโทษอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖ บัญญัติเรื่องการขอคืนทรัพย์ของกลางไว้ว่า “ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์ตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ฯลฯ” ดังนี้ จึงเป็นที่เห็นได้ว่าผู้ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบนั้น ต้องเป็นเจ้าของอันแท้จริงในทรัพย์สินนั้น เมื่อผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถยนต์ของกลางที่ศาลสั่งริบมาจากนายสั้น ยังชำระราคาค่าเช่าซื้อไม่หมด และยังไม่ได้โอนทะเบียนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๒ บัญญัติไว้ว่า เจ้าของทรัพย์ผู้เอาทรัพย์ออกให้เช่าซื้อยังเป็นเจ้าของอยู่โดยมีเงื่อนไขว่าจนกว่าจะได้รับเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา กรรมสิทธิ์ในทรัพย์จึงจะตกเป็นของผู้เช่าซื้อ ฉะนั้น ตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ของกลางรายนี้จึงยังไม่ใช่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อันแท้จริงในรถยนต์ของกลาง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งคืนรถยนต์ของกลางให้ผู้ร้อง ที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของอันแท้จริงในรถยนต์ของกลางเพราะผู้ร้องครอบครองมาตั้งแต่เช่าซื้อมานั้น เป็นการโต้เถียงฝืนหลักกฎหมายและความเป็นจริงซึ่งถือว่ารถยนต์ของกลางยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้ออยู่ดังวินิจฉัยมาแล้ว จึงฟังไม่ขึ้นศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน