คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาล ทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นเป็นพิเศษ กรณีนี้พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2482 ไม่มีบทบัญญัติโดยเฉพาะ มาตรา 42 บัญญัติให้บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ซึ่งมาตรา 14บัญญัติให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักกับค่าทดแทน จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำราคาที่ดินที่ทวีขึ้นเพราะการตัดถนนตามพระราชบัญญัติเวนคืนมาหักกับเงินค่าทำขวัญซึ่งจะจ่ายแก่โจทก์ได้
การเรียกเงินค่าทำขวัญตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2482 กับการขอรับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 เป็นคนละกรณีกัน เพราะตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2482 นั้น เจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ แม้จะยังไม่ได้ชำระค่าทำขวัญ และการกำหนดค่าทำขวัญ มาตรา 53 ก็ให้กำหนดเท่าราคาทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาเวนคืน แต่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 เจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนได้ก็ต่อเมื่อได้ใช้เงินหรือวางเงินทดแทน การกำหนดค่าทดแทนก็ให้ตกลงราคากันก่อนตามมาตรา 22 หากตกลงกันไม่ได้ให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือกำหนดราคาเด็ดขาดไปให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบตามมาตรา 23 ถ้าไม่มีคำสนองรับจากเจ้าของที่ดิน แต่ละฝ่ายจึงมีสิทธิขอเสนอตั้งอนุญาโตตุลาการ ถ้าผู้มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนไม่เสนอขอตั้งอนุญาโตตุลาการดังกล่าวภายในหกเดือน จึงให้ถือราคาเด็ดขาดที่เจ้าหน้าที่เสนอเป็นค่าทดแทนตามมาตรา 24 การกำหนดค่าทดแทนมีวิธีการเป็นลำดับดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นคนละอย่างกับวิธีการเรียกเงินค่าทำขวัญ ฉะนั้น ในการเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาล จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2482 จะนำบทบัญญัติมาตรา 23 และ 24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มาใช้บังคับหาได้ไม่
การเรียกดอกเบี้ยตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 นั้น เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติไว้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ใช้ค่าทดแทน จะนำมาบังคับในกรณีเรียกค่าทำขวัญมิได้ แต่เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าทำขวัญที่ดินจากจำเลยและโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามกำหนดเวลาให้จำเลยชำระเงินแล้ว จำเลยไม่ยอมชำระ จึงเป็นฝ่ายผิดนัด โจทก์ย่อมคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี ๒๕๐๘ ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลในท้องที่ตำบลบางกะปิและตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พ.ศ. ๒๕๐๘ กำหนดให้จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน จำเลยที่ ๑ ได้เข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ประมาณ ๖๕๒.๑๘ ตารางวา โจทก์ขอรับเงินค่าทำขวัญตารางวาละ ๑,๐๐๐ บาท แต่จำเลยเสนอราคาให้เพียงตารางวาละ ๒๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินค่าทำขวัญกับค่าเสียหายถึงวันฟ้องรวม ๗๗๒,๐๕๕.๕๖ บาท ให้โจทก์ และดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การว่า ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเพียง ๔๕๖.๓๘ ตารางวา ราคาธรรมดาตารางวาละ ๒๐๐ บาทเท่านั้น จำเลยเสนอราคาเด็ดขาด โจทก์มิได้เสนอตั้งอนุญาโตตุลาการ จึงถือตามราคาที่จำเลยเสนอ ดอกเบี้ยโจทก์ไม่มีสิทธิเรียก และการเวนคืนทำให้ที่ดินโจทก์มีราคาสูงขึ้น จำเลยมีสิทธิเอาราคาที่สูงมาหักกับค่าทำขวัญได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้เงินค่าทำขวัญอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนเป็นเงิน ๔๔๒,๐๐๐ บาท กับค่าเสียหายในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๑๐ จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยให้โจทก์กับตั้งแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๑๑ เป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดสำหรับที่ดินโจทก์ในวันประกาศใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลฯ พ.ศ. ๒๕๐๘ ควรเป็นราคา ๘๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ บาท
ส่วนปัญหาที่ว่า การสร้างถนนเพชรบุรีตัดผ่านที่ดินโจทก์ ทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นเป็นพิเศษ จำเลยจะมีสิทธิตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๔๘๒ และมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่จะนำราคาที่ทวีสูงขึ้นมาหักกับค่าทำขวัญได้หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ และได้ยกขึ้นว่ากล่าวในอุทธรณ์และฎีกาตลอดมา แม้ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยถึงศาลฎีกาก็รับวินิจฉัยในข้อนี้ได้ในปัญหาเรื่องจะนำราคาที่ดินที่ทวีขึ้นสูงเพราะพระราชบัญญัติเวนคืนมาหักกับค่าทำขวัญได้หรือไม่นั้นพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๔๘๒ ไม่มีบทบัญญัติโดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามความในมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๔๘๒ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑๔ บัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่เจ้าของตามมาตรา ๑๑ นั้น ฯลฯ ถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนได้กระทำให้ทรัพย์สินที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้นเป็นพิเศษในขณะนั้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักกับค่าทดแทน แต่ไม่ให้ถือว่าราคาทรัพย์สินที่ทวีขึ้นนั้นสูงไปกว่าจำนวนเงินค่าทดแทนเพื่อจะให้เจ้าของทรัพย์สินต้องกลับใช้เงินอีก ฯลฯ” ตามบทกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าจำเลยมีสิทธิที่จะนำราคาที่ดินที่ทวีขึ้นเพราะการตัดถนนตามพระราชบัญญัติเวนคืนมาหักกับเงินค่าทำขวัญได้ ส่วนข้อที่ว่าจำเลยมีสิทธิจะนำราคาที่ทวีขึ้นมาหักกับเงินค่าทำขวัญได้ในจำนวนเท่าใดนั้น โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า การตัดถนนทำให้ที่ดินบริเวณที่ถนนตัดผ่านนั้นเจริญขึ้นและมีราคาสูงขึ้น แต่จำเลยนำสืบไม่ได้ว่าราคาที่ดินที่ทวีขึ้นเพราะการตัดถนนเพชรบุรีตัดใหม่ตามพระราชบัญญัติเวนคืนสูงขึ้นเป็นจำนวนเท่าไร ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ตามสภาพราคาธรรมดาของที่ดินที่ซื้อขายกันในท้องตลาด สภาพและทำเลที่ดินโจทก์ประกอบกับพฤติการณ์ทั่ว ๆ ไป รวมทั้งคิดหักราคาที่ดินที่ทวีขึ้นเพราะการตัดถนนเท่าที่ควรจะเป็นแล้ว เห็นว่าค่าทำขวัญสำหรับที่ดินโจทก์ที่ถูกตัดถนนควรเป็นราคาตารางวาละ ๖๕๐ บาท ที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืนมีเนื้อที่ ๔๔๒ ตารางวา จึงเป็นเงินค่าทำขวัญ ๒๘๗,๓๐๐ บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดราคาค่าทำขวัญที่ดินให้โจทก์ตารางวาละ ๑,๐๐๐ บาทนั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า การเรียกเงินค่าทำขวัญตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๔๘๒ และการขอรับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นคนละกรณีกัน เพราะตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๔๘๒ นั้น เจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ แม้จะยังไม่ได้ชำระค่าทำขวัญ สำหรับการกำหนดค่าทำขวัญตามมาตรา ๕๓ ก็ให้กำหนดเท่าราคาทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาเวนคืน แต่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ เจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนได้ ก็ต่อเมื่อได้ใช้เงินหรือวางเงินทดแทน การกำหนดค่าทดแทนก็ให้ตกลงราคากันก่อนตามมาตรา ๒๒ หากตกลงกันไม่ได้ให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือกำหนดราคาเด็ดขาดไปให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบตามมาตรา ๒๓ ถ้าไม่มีคำสนองรับจากเจ้าของที่ดินแต่ละฝ่ายจึงมีสิทธิขอเสนอตั้งอนุญาโตตุลาการ ถ้าผู้มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนไม่เสนอขอตั้งอนุญาโตตุลาการดังกล่าวภายในหกเดือน จึงให้ถือราคาเด็ดขาดที่เจ้าหน้าที่เสนอเป็นค่าทดแทนตามมาตรา ๒๔การกำหนดค่าทดแทนมีวิธีการเป็นลำดับดังกล่าวแล้ว จึงเป็นเรื่องที่พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๔๘๒ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ บัญญัติถึงวิธีการเรียกเงินค่าทำขวัญและค่าทดแทนไว้คนละอย่างกัน เมื่อการเวนคืนรายนี้เป็นการเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาล ก็ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๔๘๒ จะนำบทบัญญัติมาตรา ๒๓ และ ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ มาใช้บังคับหาได้ไม่
ส่วนปัญหาเรื่องดอกเบี้ย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเรียกดอกเบี้ยตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ นั้น เป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติไว้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ใช้ค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๔๙๗ จะนำมาบังคับในกรณีเรียกค่าทำขวัญคดีนี้ไม่ได้ เมื่อฟังว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าทำขวัญที่ดินจากจำเลยได้ในราคาตารางวาละ ๖๕๐ บาท โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามกำหนดเวลาให้จำเลยชำระเงินแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.๖ จำเลยไม่ยอมชำระ โดยยืนคำจะให้ค่าทำขวัญในราคาตารางวาละ ๒๐๐ บาท จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดนัด โจทก์ย่อมคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๑๑ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดเวลาที่โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินค่าทำขวัญ ตามเอกสารหมาย จ.๖ ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์และในกรณีนี้โจทก์จะคิดดอกเบี้ยนับจากวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๑๐ ที่โจทก์ยื่นหนังสือขอรับค่าทำขวัญตามเอกสารหมาย จ.๔ ดังที่โจทก์ฎีกามามิได้ เพราะตามเอกสารหมาย จ.๔ ดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แต่อย่างใด
พิพากษาแก้ว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินค่าทำขวัญอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนเป็นเงิน ๒๘๗,๓๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share