คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2212/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กำหนดเวลาที่ให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นจะเป็นอันขาดอายุความนั้น เป็นบทบัญญัติสำหรับกรณีที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ฯลฯ แต่ถ้าผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์เสียก่อน จะใช้สิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลด้วยตนเองก็ย่อมกระทำได้ภายในกำหนดระยะเวลาเดียวกัน แต่เมื่อวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเป็นวันหยุด ซึ่งตามประเพณีงดเว้นการงานท่านให้นับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 161 ดังนั้น การที่ระยะเวลาที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ในคดีนี้ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 24 อันเป็นวันหยุดราชการ ผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีต่อศาลในวันที่ 25ซึ่งเป็นวันเริ่มทำงานใหม่ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันทำสัญญาโอนขายฝากที่ดินสินสมรสของโจทก์กับภริยา โดยจำเลยทั้งสองรู้ดีว่าจำเลยที่ ๑ ผู้ขายฝากไม่มีกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนแล้วก็ปล่อยให้หลุดเป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ ๒ ทำให้โจทก์เสียหายโจทก์เพิ่งทราบการกระทำของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๑๐ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐, ๓๕๓
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนมูลฟ้อง ถึงวันนัด ศาลสอบถามโจทก์โจทก์แถลงว่ามิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนก่อนฟ้องคดี ศาลชั้นต้นงดการไต่สวน และในวันเดียวกันวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้อง พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความพิพากษายก ให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งหรือพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ แล้วประทับฟ้องเฉพาะข้อหาฐานโกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พยานหลักฐานไม่พอฟังลงโทษจำเลยทั้งสองได้และเห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนด ๓ เดือนไป ๑ วันแม้วันสุดท้ายที่จะร้องทุกข์ได้ เป็นวันที่ ๒๔ เป็นวันหยุดราชการ โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายก็อาจร้องทุกข์ต่อพนักงานตำรวจได้ เมื่อมิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนด๓ เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามฟ้องและคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว จึงไม่วินิจฉัยในประเด็นว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ทางพิจารณาได้ความรับกันว่า โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๑๐ ระยะเวลาที่โจทก์จะร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖ จะสิ้นสุดลงในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม๒๕๑๐ ปรากฏว่าวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๑๐ เป็นวันเข้าปุริมพรรษาและเป็นวันเสาร์ วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๑๐ ตรงกับวันอาทิตย์ อันเป็นวันหยุดราชการตามปกติ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๑๐ เป็นวันหยุดราชการชดเชยวันเข้าปุริมพรรษา โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๑๐จึงเกินกำหนดเวลา ๓ เดือนไป ๑ วัน ศาลฎีกาพิเคราะห์เห็นว่าอันกำหนดเวลาให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นเป็นอันขาดอายุความนั้นเป็นบทบัญญัติสำหรับกรณีที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ แต่ถ้าผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์เสียก่อนจะใช้สิทธินำคดีฟ้องต่อศาลด้วยตนเอง ก็ย่อมกระทำได้ภายในกำหนดระยะเวลาเดียวกัน แต่เมื่อวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเป็นวันหยุดซึ่งตามประเพณีงดเว้นการงาน ท่านให้นับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๑ ดังนั้นโจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๑๐ ได้ ฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาชี้ขาดการกระทำของจำเลยทั้งสองว่าเป็นความผิดตามโจทก์ฟ้องด้วยนั้น ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยการกระทำของจำเลยว่าเป็นความผิดหรือไม่ จำเป็นต้องให้ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดความข้อนี้เสียก่อน
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share