คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 247/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสโดยป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจไม่ได้ตามปกติเกินกว่า 20 วัน แม้ผู้ว่าคดีจะนำจำเลยมาฟ้องหลังจากเกิดเหตุได้ 9 วัน ซึ่งยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแน่นอนว่าผู้เสียหายจะป่วยเจ็บหรือประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่า 20 วันหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ฟ้องประกอบบันทึกบาดแผลตามรายงานชันสูตรของแพทย์ ซึ่งประมาณการรักษาไว้เป็นเวลา 45 วัน ซึ่งต้องถือว่าจำเลยได้รับสารภาพโดยพิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามฟ้องทั้งหมดนี้ด้วยแล้ว ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยซึ่งให้การรับสารภาพตามฟ้องไปได้

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ขับรถยนต์รับจ้างสาธารณะด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง กล่าวคือ จำเลยขับรถเลี้ยวขวาโดยไม่ดูความปลอดภัยทางหน้าให้ดีเสียก่อน จึงเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ท.๗๗๕๒ ได้รับความเสียหายและเป็นเหตุให้นางเรียม ขำขัน นางแก้ว วงษ์ยะลา และพลฯ สืบ แสงหะตา ผู้โดยสารมาในรถคันดังกล่าวได้รับอันตรายแก่กายถึงบาดเจ็บ และบาดเจ็บสาหัสโดยป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วันตามรายงานชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๒๙(๔), ๖๖ พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗, ๑๓ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๙๐, ๓๐๐
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ ซึ่งเป็นบทหนัก รับลดกึ่งให้จำคุก ๔ เดือน
จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๐ ไม่ได้ และขอให้รอการลงโทษจำเลย เพราะจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และได้ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายทั้งสามคนเป็นที่พอใจเป็นเงิน ๒,๕๐๐ บาทแล้ว
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สำหรับบาดแผลของนางเรียมซึ่งได้รับบาดเจ็บมากกว่าผู้อื่นตามใบชันสูตรของแพทย์ที่ว่า ที่ศีรษะด้านหลังแถบซ้ายเจาะเส้นผ่าศูนย์กลางครึ่งเซนติเมตรโลหิตไหล ข้อมือซ้ายบวมและปวด หน้าแข้งซ้ายปวดบวม เหนือเข่าทั้งสองข้างเขียว และกระดูกแขนซ้ายหัก รวม ๕ แผลลักษณะบาดแผลถูกของแข็งไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาล แต่กลับไปรักษาและพักผ่อนประมาณ ๔๕ วัน รวมเวลาการรักษาประมาณ ๔๕ วัน แต่โจทก์มาฟ้องหลังจากเกิดเหตุเพียง ๙ วัน ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องยังรับฟังเช่นนั้นไม่ได้ แม้จำเลยจะรับตามฟ้องก็ตาม นอกจากนั้นยังปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งสามกับจำเลยได้มาตกลงกันที่สถานีตำรวจต่อหน้าพนักงานสอบสวน แสดงว่า นางเรียมหาต้องทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ๒๐ วันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วันไม่ คดีคงฟังได้เพียงว่า นางเรียมได้รับบาดเจ็บตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ เช่นเดียวกับผู้เสียหายอีกสองคนนั้นพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๙๐ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดให้จำคุกจำเลย ๑ เดือน รับสารภาพลดอีกกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๕ วัน แต่เห็นว่าจำเลยได้ชดใช้ค่ารักษาพยาบาลและค่าทำขวัญให้เป็นที่พอใจแก่ผู้เสียหายทั้งสาม และโดยเหตุผลทั่ว ๆ ไปแล้ว จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่าศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามโจทก์ฟ้องได้อันเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ได้บรรยายลักษณะบาดแผลของนางเรียมผู้เสียหายและอ้างความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจชันสูตรว่ารักษาประมาณ๔๕ วัน โจทก์ได้กล่าวในฟ้องด้วยว่านางเรียมได้รับอันตรายแก่กายถึงบาดเจ็บสาหัสโดยป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน ซึ่งจำเลยก็ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้อง และคำให้การของจำเลยดังกล่าวมา แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยและจำเลยให้การรับเมื่อภายหลังวันเกิดเหตุเพียง ๙ วันยังไม่เกิน ๒๐ วัน ศาลก็ฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยให้การรับได้ โดยถือว่าจำเลยได้อาศัยพิเคราะห์ตามลักษณะบาดแผลและความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลแล้ว จึงได้ยอมรับข้อเท็จจริงตามนั้นโจทก์ไม่ต้องนำสืบพยานต่อไป เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับให้โจทก์ต้องนำพยานมาสืบในคดีเช่นนี้ ส่วนที่ว่าในวันฟ้องนั้นผู้เสียหายมารับเงินค่าเสียหายยังสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งได้ ก็ไม่หมายความว่านางเรียมผู้เสียหายไม่ได้ป่วยเจ็บทุพพลภาพประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า ๒๐ วัน ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง และคำรับสารภาพของจำเลยได้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายและอัตราโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่เห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ มีกำหนด ๒ ปี ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share