คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2076/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เอาประกันชีวิตรู้ว่าตนป่วยเป็นโรคมะเร็ง เคยเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งต่อมไทมัสที่ทรวงอกและต่อมาที่มดลูกและรังไข่ซึ่งมะเร็งได้กระจายลงไป ขณะยื่นคำขอเอาประกันชีวิตก็เป็นระยะที่ตนกำลังได้รับการรักษาด้านการฉายรังสี แต่ปกปิดความจริงดังกล่าวนี้โดยแถลงเท็จว่าเป็นการผ่าตัดซี่โครงข้างซ้ายซึ่งงอเพราะกระโดดน้ำเล่นและผ่าตัดไส้ติ่ง ซึ่งถ้าบริษัทประกันภัยทราบความจริงข้างต้นนี้แล้วก็จะไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตด้วย เช่นนี้ สัญญาย่อมเป็นโมฆียะบริษัทมีสิทธิบอกล้างไม่ใช้เงินตามสัญญาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางสาวมัลลิกา วงศ์เจริญรัตน์ ได้ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับจำเลยจำนวนเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท กำหนดชำระเบี้ยประกัน ๔๔ ปี ชำระทุกทุกวันที่ ๒๐ พฤษภาคม และพฤศจิกายน ตามสัญญากรมธรรม์ฉบับที่ ๖๕๘๓๘/๒/๒๕๑๐ โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญา หนังสือสัญญานี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๑๐ ทันทีที่นางสาวมัลลิกาวงศ์เจริญรัตน์ ถึงแก่กรรม เมื่อทำสัญญาแล้วต่อมานางสาวมัลลิกาวงศ์เจริญรัตน์ ถึงแก่กรรมตรงกับวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๑๐ ตามสำเนาใบมรณบัตรท้ายฟ้องโจทก์จึงแจ้งการตายให้จำเลยทราบและขอรับเงินประกันตามสัญญา ทั้งมอบอำนาจให้ทนายทวงถาม จำเลยไม่ยอมจ่ายจึงฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน
จำเลยให้การว่า นางสาวมัลลิกา วงศ์เจริญรัตน์ จะตายจริงมีใบรับรองมรณบัตรท้ายฟ้องจริงหรือไม่ไม่รับรอง จำเลยได้บอกล้างกรมธรรม์ตามฟ้องแล้วแต่เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๑๐ ตามสำเนาหนังสือบอกล้างท้ายคำให้การนางสาวมัลลิกา วงศ์เจริญรัตน์ ปิดบังอำพรางไม่เปิดเผยความจริงในสารสำคัญเพื่อจะเอาประกันภัยโดยได้แถลงไว้ในคำแถลงและเซ็นชื่อรับรองไว้ ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้นที่จำเลยรับประกันเพราะนางสาวมัลลิกา วงศ์เจริญรัตน์ ปิดบังและไม่เปิดเผยความจริงว่าเคยผ่าตัดโรคมะเร็งที่ทรวงอกครั้งหนึ่งและมะเร็งที่มดลูกครั้งหนึ่ง หรือได้รับการรักษาโดยวิธีฉายแสง “รังสี” มาแล้วเมื่อจำเลยทราบเรื่องได้บอกล้างกรมธรรม์ไปยังโจทก์ผู้รับประโยชน์แล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า สัญญาประกันชีวิตสมบูรณ์การบอกล้างของจำเลยหาทำให้สัญญาประกันชีวิตระงับสิ้นไปไม่ จำเลยต้องชดใช้เงินให้โจทก์ตามสัญญาจึงพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทให้โจทก์ และให้เสียดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี ในต้นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาต่อมา
ในปัญหาซึ่งมาสู่ศาลฎีกาว่า นางสาวมัลลิกา วงศ์เจริญรัตน์ ผู้เอาประกันชีวิตได้รู้ว่าตนเป็นโรคมะเร็งก่อนทำสัญญาพิพาทรายนี้หรือไม่ นั้นศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เกี่ยวกับประวัติอาการป่วยของนางสาวมัลลิกาผู้เอาประกันชีวิตรายนี้ ได้ความจากคำเบิกความของนายแพทย์หม่อมราชวงศ์ กัลยาณกิติ์ กิติยากร พยานโจทก์เองว่าพยานเป็นผู้ผ่าตัดทรวงอกนางสาวมัลลิกาเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ โดยนายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ แพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลประทานปากเกร็ด นนทบุรี เป็นผู้ส่งมา เนื่องจากแพทย์ตรวจพบว่ามีก้อนเนื้อในช่องอกของคนไข้เมื่อพยานทำการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกตรวจก็พบว่าเป็นมะเร็งของต่อมไทมัสผ่าตัดแล้วได้บอกพี่ชายของนางสาวมัลลิกาที่เป็นแพทย์ให้ทราบ ซึ่งปรากฏตามสำนวนว่า คือนายแพทย์นัยสันติ์ วงศ์เจริญรัตน์ แพทย์โรงพยาบาลชลประทานปากเกร็ด ผู้เป็นน้องชายของโจทก์ด้วย ตามคำของนายแพทย์อำนวย เสมรสุต พยานที่โจทก์จำเลยอ้างร่วมกันและคำของนายแพทย์โรจน์สุวรรณสุทธิ พยานจำเลยประกอบกับบันทึกของแพทย์ทั้งสองเอกสารหมาย ล.๓ และ ล.๑๐ ตามลำดับได้ความว่า หลังจากการผ่าตัดครั้งแรกดังกล่าวแล้ว ต่อมาแพทย์ได้ตรวจพบว่านางสาวมัลลิกามีก้อนในช่องท้อง ได้ทำการผ่าตัดเอาเนื้องอกของรังไข่ออกทั้งสองข้างซึ่งพบว่าเป็นมะเร็งชนิดเซ็ลเล็กและได้ให้การรักษาด้วยรังสีโคบอลท์ที่ทรวงอกตอนบนเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๐๙ เป็นครั้งแรกครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๑๐ ที่กระดูกเชิงกรานซึ่งมะเร็งได้กระจายลงไป ครั้งที่ ๓ ที่ทรวงอกเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ เนื่องจากก้อนมะเร็งกลับโตใหญ่ ครั้งที่ ๔ ที่กระโหลกศีรษะเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๑๐ เนื่องจากมะเร็งกระจายมาที่สมอง ตรวจครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๑๐ โดยผู้ตายมีอาการหายจากปวดศีรษะ จากนั้นผู้ตายไม่ได้มาติดต่อกับแพทย์อีก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสาวมัลลิกาได้ตายเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๑๐
เกี่ยวกับการที่นางสาวมัลลิกาทำการเอาประกันชีวิตไว้กับบริษัทจำเลยนั้น ตามคำแถลงของผู้ขอเอาประกันลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๑๐ เอกสารหมาย ล.๒ นางสาวมัลลิกาได้ตอบคำถามข้อ ๖, ๘ และ ๙ ซึ่งบริษัทจำเลยขอทราบเกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วยว่าเคยรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือสถานรักษาโรคใดหรือไม่ นางสาวมัลลิกาตอบว่าเคย และในช่องให้ชี้แจงรายละเอียดแถลงว่าเมื่อ ๓ ปีมาแล้วเคยกระโดดน้ำเล่น ทำให้กระดูกซี่โครงด้านซ้ายงอ ได้ไปตรวจและทำผ่าตัดอยู่โรงพยาบาลศิริราช ๑ อาทิตย์ หลังจากนั้นปกติดี เคยทำผ่าตัดไส้ติ่งเมื่อ ๑ ปีเศษมาแล้วโรงพยาบาลศิริราชและในคำถามข้อ ๙ ว่า ในระยะ ๕ ปีที่แล้วมา เคยให้แพทย์ตรวจรักษานอกจากที่กล่าวแล้วข้างต้นหรือไม่ เคยได้รับตรวจด้วยเครื่องไฟฟ้า ตรวจหัวใจหรือเอ๊กซเรย์หรือตรวจโลหิตหรือไม่ นางสาวมัลลิกาตอบว่าเช็คสุขภาพทุกปีที่กรมชลฯ ปากเกร็ด พี่ชายเป็นแพทย์เอ๊กซเรย์ที่กรมชลฯ เมื่อ ๑ อาทิตย์ผลปกติ คำถามอื่นนอกจากข้อ ๘ ซึ่งอ้างคำตอบในข้อ ๖ แล้วนางสาวมัลลิกาตอบปฏิเสธทุกข้อ
ฝ่ายจำเลยได้นำสืบถึงพฤติการณ์อื่น ๆ ด้วยว่า ในระยะเวลาใกล้เคียงกับที่นางสาวมัลลิกาได้เอาประกันชีวิตไว้กับบริษัทจำเลยนั้น นางสาวมัลลิกาได้ไปขอเอาประกันชีวิตกับบริษัทอื่นอีก ๒ แห่งคือ บริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด และบริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด ๑ แห่งละ ๑ แสนบาท ซึ่งการประกันชีวิตในวงเงินจำนวนสูงเช่นนี้ต้องมีการตรวจสุขภาพผลการตรวจสำหรับบริษัทแรก จากการตรวจด้วยเอ๊กซเรย์แพทย์พบอาการช้ำที่ปอด บริษัทจึงไม่รับประกันดังปรากฏตามคำนายวิชิตศรีบุญเรือง พยานจำเลย ผู้จัดการแผนกประกันชีวิตของบริษัทนั้นประกอบกับเอกสารหมาย ล.๗, ล.๘ และ ล.๙ สำหรับบริษัทหลังได้ความจากคำนายชิงชัย มะโนทัย ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทว่า เมื่อแพทย์ของบริษัทตรวจพบอาการแล้ว ได้วินิจฉัยในทางเป็นวัณโรคแต่เมื่อตรวจโลหิตไม่พบว่ามีปฏิกิริยาของวัณโรค จึงตกลงรับประกันชีวิต ในทันทีที่บริษัทตกลงรับประกัน นางสาวมัลลิกาผู้เอาประกันได้ขอเอาประกันเพิ่มอีก ๑ แสนบาท รวมเป็น ๒ แสนบาท แต่ในระหว่างที่พิจารณาว่าจะตกลงรับประกันในส่วนที่ขอเพิ่มนี้หรือไม่ บริษัทได้ทราบว่าผู้ตายเข้าโรงพยาบาล จึงปฏิเสธไม่รับในคำขอเอาประกันเพิ่ม ข้อนำสืบของจำเลยถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ รับฟังเป็นความจริงได้โดยปราศจากข้อสงสัย
อนึ่ง นับจากวันที่นางสาวมัลลิกาได้เอาประกันไว้กับบริษัทจำเลยเพียง ๓๗ วัน นางสาวมัลลิกาก็ถึงแก่ความตาย ตามมรณบัตรแจ้งไว้ว่าตายด้วยโรคหัวใจวาย ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันภัยได้ยื่นฟ้องบริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด เรียกเงินประกันบริษัทปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงิน ศาลแพ่งได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ดังปรากฏตามคดีของศาลแพ่งหมายเลขดำที่ ๗๐๖/๒๕๑๑ หมายเลขแดงที่ ๘๑๐/๒๕๑๒ ซึ่งถึงที่สุดโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์
นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่าวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๑๐ อันเป็นวันที่นางสาวมัลลิกายื่นคำขอและคำแถลงขอเอาประกันชีวิตต่อบริษัทจำเลยตามเอกสารหมาย ล.๑, ล.๒ นั้น เป็นวันเดียวกันกับวันที่นางสาวมัลลิกาได้รับการรักษาด้วยรังสีเป็นครั้งที่ ๔ ตามเอกสารหมาย ล.๑๐ นั่นเอง คำแถลงของนางสาวมัลลิกาตามเอกสาร ล.๒ ข้อ ๖ ที่ว่า “เมื่อ ๓ ปีมาแล้วเคยกระโดดน้ำเล่น ทำให้กระดูกซี่โครงข้างซ้ายงอ ได้ไปตรวจและทำผ่าตัดอยู่โรงพยาบาลศิริราช ๑ อาทิตย์ หลังจากนั้นปกติดีเคยทำผ่าตัดไส้ติ่งเมื่อ ๑ ปีเศษมาแล้ว โรงพยาบาลศิริราช” นั้น เมื่อได้เทียบเคียงกับคำของนายแพทย์หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร พยานของโจทก์เองและบันทึกเอกสารหมาย ล.๓ กับ ล.๑๐ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ศาลนี้เห็นว่าคำของนางสาวมัลลิกาที่แถลงต่อบริษัทจำเลยตามเอกสารหมาย ล.๒ ว่าผ่าตัดซี่โครงข้างซ้ายนั้น ก็คือการผ่าตัดทรวงอกและที่นางสาวมัลลิกาแถลงต่อบริษัทจำเลยว่าผ่าตัดไส้ติ่งนั้น แท้ที่จริงก็คือการผ่าตัดเนื้องอกของรังไข่นั่นเอง ตัวโจทก์เบิกความว่านางสาวมัลลิกาได้รับการศึกษาจบชั้นมัธยมปีที่ ๘ เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๐๙ การเรียนดี สอบได้ทุกปี ขณะที่ยื่นคำขอเอาประกันชีวิตต่อบริษัทจำเลยนั้นคำนวณอายุได้ ๒๐ ปีเศษ แม้ตามคำเบิกความของพยานหลายปากซึ่งเป็นแพทย์จะกล่าวในทำนองว่าเมื่อตรวจพบว่าคนไข้เป็นมะเร็ง แพทย์ก็จะไม่บอกความจริงแก่คนไข้ก็ตามแต่นางสาวมัลลิกาก็ตระหนักถึงประวัติสุขภาพของตนเองเป็นอย่างดีว่าตนได้เคยเจ็บไข้ถึงขนาดต้องผ่าตัดทรวงอก แล้วต้องผ่าตัดบริเวณท้องและได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีมา ๓-๔ ครั้ง ภายในช่วงเวลาเพียงปีเศษ ๆ เมื่อคำนึงถึงอายุและระดับความรู้ความคิดประกอบกับพฤติการณ์แวดล้อมของนางสาวมัลลิกา รวมทั้งความพิรุธอย่างยิ่งในพฤติการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการที่นางสาวมัลลิกาและโจทก์มีอยู่ต่อบริษัทรับประกันภัยอีก ๒ บริษัทดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ข้อเท็จจริงบ่งให้เห็นได้ชัดโดยปราศจากสงสัยว่าในขณะที่นางสาวมัลลิกายื่นคำขอเอาประกันชีวิตกับบริษัทจำเลยและในเวลาทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทจำเลยนั้น นางสาวมัลลิกาผู้เอาประกันรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นโรคมะเร็ง แต่ได้ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงทั้งยังได้แถลงข้อความอันเป็นความเท็จต่อบริษัทจำเลยทำให้บริษัทจำเลยยอมรับประกันชีวิตนางสาวมัลลิกา ซึ่งถ้าบริษัทจำเลยทราบถึงความจริงดังกล่าว บริษัทจำเลยจะไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตนั้นพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างพยานหลักฐานอันมั่นคงแน่นแฟ้นของจำเลยได้ สัญญาประกันชีวิตที่โจทก์นำมาฟ้องจึงเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๕ และบริษัทจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันชีวิตได้ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว บริษัทจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลนี้ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share