คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้ออกเงินซื้อที่พิพาทและทำการก่อสร้างโกดังขึ้นบนที่แปลงนี้เพื่อใช้ในกิจการของบริษัทโจทก์ เหตุที่โจทก์ไม่ลงชื่อเป็นผู้ซื้อในโฉนดเป็นเพราะกรรมการคนหนึ่งในบริษัทโจทก์เป็นบุคคลต่างด้าว ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 97 บัญญัติให้โจทก์มีฐานะเสมือนคนต่างด้าวในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน กรรมการบริษัทโจทก์จึงตกลงให้โอนโฉนดจากผู้ขายมาเป็นชื่อ ส. ต้องถือว่า ส. ได้มาซึ่งที่ดินในฐานะเป็นเจ้าของแทนนิติบุคคล ซึ่งกฎหมายให้ถือเสมือนคนต่างด้าว โจทก์จะเรียกร้องเอาที่ดินมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนไม่ได้ ที่พิพาทรายนี้ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 96 แม้ต่อมามีคำสั่งของคณะปฏิวัติฉบับที่ 49 ยกเลิกประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 97 (5) เสียก็ตามคำสั่งของคณะปฏิวัติดังกล่าวก็หามีผลย้อนหลังไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินได้แต่อย่างใด ผลต่อไปต้องบังคับตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 96 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องนี้โดยเฉพาะจะต้องให้อธิบดีกรมที่ดินจำหน่ายที่พิพาทเสีย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2513)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๔๙๖ โจทก์ตกลงรับซื้อที่ดินโฉนดที่ ๔๙๒จากนางสุนีรัตน์ โจทก์ได้ปลูกสร้างโกดังขึ้นบนที่ดินแปลงนี้ เดือนสิงหาคม ๒๔๙๘โจทก์ได้แจ้งให้นางสุนีรัตน์ทราบว่าโจทก์จะขอใส่ชื่อพลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์(ยศขณะนั้น) ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนโจทก์ชั่วคราวเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๔๙๘ทั้งนี้ พลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มิได้มีส่วนออกเงินซื้อหรือก่อสร้าง เดือนธันวาคม ๒๕๐๗จำเลยที่ ๒ ได้มีหนังสือถึงโจทก์อ้างว่าโจทก์ครอบครองที่ดินหรืออาคารในโฉนดที่ ๔๙๒ ซึ่งตกเป็นของรัฐโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ทรัพย์สินในกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และทรัพย์สินของท่านผู้หญิงวิจิตราธนะรัชต์ ตกเป็นของรัฐ ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๗ โจทก์ได้ส่งตัวแทนไปชี้แจงให้จำเลยที่ ๒ ทราบว่ากรรมสิทธิ์อันแท้จริงในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเป็นของโจทก์ ต่อมาเดือนเมษายน ๒๕๐๙ ดร.เสริม วินิจฉัยกุลผู้แทนจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทโจทก์ได้ชี้แจงให้เอารายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทออกจากสินทรัพย์ในบัญชีงบดุลย์ของบริษัทโจทก์ขอให้สั่งแสดงว่าที่ดินโฉนดที่ ๔๙๒ รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การร่วมกันว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ซื้อที่พิพาทหากโจทก์จะได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับที่รายนี้ก็เป็นการทำแทนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริษัทโจทก์ ความจริงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้ซื้อ โจทก์มีคนต่างด้าวเป็นกรรมการบริษัทอยู่ด้วยโจทก์จึงไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ จำเลยที่ ๒ มิได้ทำการอันใดเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ที่ดินโฉนดที่ ๔๙๒ รวมสิ่งปลูกสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ข้อเท็จจริงแห่งคดีมีว่า ที่ดินที่พิพาทรายนี้เดิมเป็นของนางสุนีรัตน์ได้ขายให้บริษัทโจทก์ โจทก์ได้ชำระเงินให้นางสุนีรัตน์ครบถ้วน แต่ยังไม่ได้โอนโฉนดให้กัน เพราะติดขัดที่นายสหัส มหาคุณ กรรมการคนหนึ่งของบริษัทโจทก์เป็นคนต่างด้าว ในที่สุดคณะกรรมการบริษัทโจทก์จึงตกลงกันให้โอนที่พิพาทใส่ชื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการโอนโฉนดมาเป็นชื่อของจอมพลสฤษดิ์เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๔๙๘ บริษัทโจทก์ได้รื้อสิ่งปลูกสร้างเดิมออกและปลูกสร้างโกดังขึ้นใหม่ ครั้นวันที่ ๑๓ มกราคม๒๕๐๒ ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๔๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๙๗(๕)แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ก็มิได้มีการโอนโฉนดเป็นชื่อของบริษัทโจทก์โฉนดยังคงเป็นชื่อจอมพลสฤษดิ์อยู่ตลอดมา จนจอมพลสฤษดิ์ ถึงอสัญกรรมจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร มาตรา ๑๓ มีคำสั่งให้ทรัพย์สินในกองมรดกจอมพลสฤษดิ์ตกเป็นของรัฐ ดังนี้ โจทก์เป็นผู้ออกเงินซื้อที่พิพาทและทำการก่อสร้างโกดังขึ้นบนที่แปลงนี้เพื่อใช้ในกิจการของบริษัทโจทก์ เหตุที่โจทก์ไม่ลงชื่อเป็นผู้ซื้อในโฉนดเป็นเพราะกรรมการคนหนึ่งในบริษัทโจทก์เป็นบุคคลต่างด้าว ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙๗ บัญญัติให้โจทก์มีฐานะเสมือนคนต่างด้าวในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน กรรมการบริษัทโจทก์จึงตกลงให้โอนโฉนดจากผู้ขายมาเป็นชื่อจอมพลสฤษดิ์ ศาลฎีกาเห็นว่าตามรูปคดีต้องถือว่าจอมพลสฤษดิ์ได้มาซึ่งที่ดินในฐานะเป็นเจ้าของแทนนิติบุคคลซึ่งกฎหมายให้ถือเสมือนคนต่างด้าว ปัญหาจึงมีว่าโจทก์จะเรียกร้องเอาที่ดินมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้หรือไม่ ปัญหาข้อนี้ได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่าโจทก์เรียกร้องเช่นนั้นมิได้ที่พิพาทรายนี้ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙๖
ปัญหาต่อไปมีว่า หลังจากโจทก์ซื้อที่พิพาทใส่ชื่อจอมพลสฤษดิ์ในโฉนดแล้ว ต่อมาได้มีคำสั่งของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๔๙ ยกเลิกประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙๗(๕) เสียเช่นนี้ จะมีผลให้โจทก์กลับมีสิทธิเรียกร้องเอาที่พิพาทมาเป็นของตนได้หรือไม่ ปัญหานี้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำสั่งของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๔๙ ซึ่งยกเลิกประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙๗ (๕) นั้นไม่มีผลย้อนหลัง โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะเรียกร้องเอาที่พิพาทมาเป็นของตนได้แต่อย่างใด ผลต่อไปก็จะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙๖ซึ่งเป็นบทบัญญัติในเรื่องนี้โดยเฉพาะ กล่าวคือ จะต้องให้อธิบดีกรมที่ดินจำหน่ายที่พิพาทนี้เสีย
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share